ดันสุดแรง!! ดัน ‘โคราชจีโอพาร์ค’ ขึ้นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ลุ้นขึ้นชั้นดินแดน 3 มงกุฎยูเนสโก ลำดับที่ 4 ของโลก (คลิป)

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่อาคารสิรินธร สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการพัฒนาอุทยานธรณี” มีคณะผู้เชี่ยวชาญเครือข่ายอุทยานธรณีประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ เสริมสร้างเทคนิค แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดเห็น และลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติการประเมินภาคสนามที่สถาบันไม้กลายเป็นหินฯ ปราสาทหินพนมวัน อ.เมือง โรงเรียนท่าช้างราษฎร์บำรุง พื้นที่บ่อทราย เส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรณี อ.เฉลิมพระเกียรติ แหล่งหินตัด ชุมชนเขายายเที่ยง ถ้ำวัดเขาจันทร์งาม อ.สีคิ้ว รวม 2 วัน เพื่อเตรียมการจัดการประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค (APGN Symposium) และปรับปรุงกระบวนการให้มีมาตรฐานพร้อมเข้ารับการตรวจประเมินอุทยานธรณีโลก และประเมินซ้ำในปี พ.ศ 2563-2564

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เปิดเผยว่า “โคราชจีโอพาร์ค” เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง อาณาเขต 3,167 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีภูมิประเทศ เขาเควสตา (เขาอีโต้) และฟอสซิล 3 ยุค คือ ยุคครีเทเซียส (110 ล้านปี) ยุคนีโอจีน (16-2.6 ล้านปี) และยุคควอเทอร์นารี (2.6-0.01 ล้านปี) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 มีมติเห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีโคราชเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกขององค์การยูเนสโก

ผศ.ดร.ประเทืองกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ จ.นครราชสีมา มีแหล่งท่องเที่ยวได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก 2 แห่ง คือ ผืนป่ามรดกโลกแห่งที่ 5 ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช อ.วังน้ำเขียว เหลือเพียงอุทยานธรณีโคราช หรือโคราชจีโอพาร์ค ที่ผ่านมาในรอบ 20 ปี นักวิจัยทั้งชาวไทย และต่างชาติ ได้ค้นพบซากฟอสซิลที่มีความหลากหลายทางบรรพชีวินอย่างต่อเนื่อง เช่น ช้างดึกดำบรรพ์ หนูโบราณ จระเข้โบราณ ไดโนเสาร์ และไม้กลายเป็นหินหลายหมื่นชิ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ค้นพบซากฟอสซิลอายุ 115 ล้านปี “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ ติ” ไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อขนาดใหญ่ ลำตัวยาวประมาณ 8 เมตร ตัวที่ 12 ของประเทศไทย ทั้งนี้ หากอุทยานธรณีโคราชได้รับรองเป็นอุทยานธรณีโลก จะทำให้ จ.นครราชสีมา เป็น “UNESCO Triple Crown” หรือดินแดน 3 มงกุฎยูเนสโก เป็นประเทศที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ส่งผลให้ไทย และ จ.นครราชสีมา สามารถใช้แบรนด์ยูเนสโกในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้ง ยูเนสโกช่วยประชาสัมพันธ์ให้อีก โดยใช้เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วงรอบ “เขาใหญ่-สะแกราช-ท่าช้าง-ท้าวสุรนารี-ศรีจนาศะ และขอม-เควสตา เขายายเที่ยงหรือภูผาสูง สามารถลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีงานทำ มีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

Advertisement

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image