แห่ฟังเสวนา วัดร้างฯ แน่น “ประภัสสร์” นำ “เดินเท้า” เผยเป็นจิ๊กซอว์เติมเต็ม “ประวัติศาสตร์กรุงเทพ”

สืบเนื่องจากกรณีเว็บไชต์มติชนออนไลน์ได้มีการนำเสนอข่าว นายประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ออกเดินทางตามหาวัดร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่กรุงธนบุรีเป็นเวลาสองปี จนเกิดเป็นกระแสในโซเซียลมีเดียและมีการแชร์ข่าวมากถึง 120,000 ครั้ง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน ที่ห้อง 304 หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักพิมพ์มติชน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม และ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมจัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ “วัดร้างในบางกอก” โดยมี นายประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือดังกล่าว และ นายศรัณย์ ทองปาน กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี เป็นผู้ร่วมเสวนา ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากจนเต็มพื้นที่ และได้ถูกจับจองจนครบจำนวนตั้งแต่ก่อนวันจัดงาน

วัดร้างในบางกอก

ทั้งนี้ นางสาวอชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ขึ้นกล่าวเปิดงานว่า นายประภัสสร์ ถือเป็นอาจารย์ที่มีความสม่ำเสมอในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งความจริงแล้วกรณีวัดร้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรู้ที่นายประภัสสร์ได้เดินเท้าสำรวจเท่านั้น และความจริงแล้วการออกเดินทางสำรวจของนายประภัสสร์นั้นใช้เวลามากกว่า 2 ปี และยังมีความรู้ข้อมูลอื่นๆ อีกมาก

Advertisement

“ส่วนตัวหวังว่าหากท่านใดที่ประทับใจในการเดินทางของนายประภัสสร์ก็ขอให้ติดตามอาจารย์ได้ผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัวและผลงานต่างๆ นอกจากนี้ยังได้มีการปรึกษาหารือกันว่าอาจจะมีการจัดทริปให้กับประชาชนที่สนใจประวัติศาสตร์ต่อไปในอนาคต” นางสาวอชิรัชญ์ กล่าว

ด้าน นายศรัณย์ กล่าวว่า ความจริงแล้วที่มีการนำเสนอว่านายประภัสสร์เดินเท้าสองปีตามหาวัดร้างนั้น ความเป็นจริงหากพิจารณากันตามหลักฐานจะเห็นได้ว่านายประภัสสร์ ได้ศึกษาและทำงานมาร่วมๆ 10 ปีแล้ว โดยเราสามารถดูได้จากงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารเมืองโบราณ ก่อนที่จะมีการนำเสนอผ่านทางคอลัมน์ประจำใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม และ นำมาสู่การตีพิมพ์หนังสือ วัดร้างในบางกอก ในที่สุด

ประภัสสร์ ชูวิเชียร

Advertisement

ขณะที่ นายประภัสสร์ กล่าวว่า สาเหตุที่สนใจเริ่มต้นทำงานในลักษณะนี้ เกิดขึ้นจากแรงบันดาลที่เห็นจาก นายศรัณย์ ทองปาน และ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) โดยเป็นการทำงานโบราณณคดีแบบนอกกรอบ ไม่ได้สังกัดหน่่วยงานองค์กรใด เพียงแต่ทำงานจากแรงบันดาลใจ จากความสนใจของตนเอง จนเกิดผลงานต่างๆ ขึ้นมาได้ในที่สุด

“แม้ว่าวันนี้งานของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ จะล้าสมัยไปตามเวลาที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ท่านทำไว้ถือเป็นงานที่เป็นข้อมูลชั้นต้นที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นรากฐานสำคัญของการทำงานที่เป็นข้อมูลเชิงสำรวจ เพื่อให้คนอื่นสามารถไปต่อยอดได้” นายประภัสสร์ กล่าวและว่า การทำงานตามอย่างนักปราชญ์ และทีมงานวิชาการที่เคยทำงานมาก่อนถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของการทำงานในทุกวันนี้

นายประภัสสร์ กล่าวอีกว่า ส่วนหนังสือวัดร้างในบางกอก ถือเป็นผลพลอยได้ของงานวิจัยเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ข้อมูลขณะที่เรียนในการสำรวจ โดยวัดร้างที่กำลังพูดถึงไม่ได้นั้นเป็นเรื่องสยองขวัญ อย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่มักนึกถึง แต่ภาพที่เห็นคือภาพของแม่น้ำลำคลอง แม่น้ำใหญ่ และคลองเล็กคลองน้อย ที่เป็นภาพดั้งเดิมเป็นจุดเริ่มต้นของกรุงเทพฯ

“ด้วยสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทำให้ปัจจุบันไม่สามารถที่จะสำรวจได้ด้วยการนั่งเรือไปตามแม่น้ำลำคลองอีกต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นที่ตองเดินสองเท้าเข้าไปสำรวจ เพราะขาสองขากับตัวของเรานั้นมีความคล่องตัวที่จะทำให้เราซอกซอนเข้าไปถึงข้อมูลได้” นายประภัสสร์ กล่าว

นายประภัสสร์ กล่าวอีกว่า ถ้ามองผ่านแผนที่กรุงเทพใน พ.ศ. 2431-2479 จะเห็นได้ว่ากรุงเทพในสมัยโบราณประกอบด้วยแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก ถนนมีน้อยมาก แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักในการคมนาคม ลำคลองสาขาต่างๆ ยังชัดเจน และยังไม่ได้ถูกลบท้ิงเหมือนในแผนที่ปจจุบัน เนื่องจากยังเป็นเส้นทางสัญจรในอดีต

“แผนที่เก่าได้มีการลงชื่อวัดเอาไว้นั่นเป็นเพราะกรุงเทพโบราณไม่ได้มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นหมุดหมาย จึงมีการลงชื่อวัดเอาไว้เป็นหมุดหมายในแผนที่ และวัดต่างๆ ก็มักตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ลำคลองซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรของคนในอดีต” นายประภัสสร์ กล่าวและว่าอีกเส้นทางหนึ่งที่มักจะใช้ในการสำรวจวัดร้างคือทางรถไฟ ซึ่งถือเป็นการคมนาคมสมัยใหม่ในอดีต โดยแผนที่ในอดีตจะมีการลงชื่อวัดที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นตามทางรถไฟ แต่ไม่ได้มีอยู่ในแผนที่ปัจจุบันแล้วเช่นกัน

วัดร้างในบางกอก

นายประภัสสร์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้เป็นถือว่าเป็นคนค้นพบ แต่เป็นคนที่ไปสำรวจและนำมาเล่าต่อแค่เพียงเท่านั้น ส่วนทำไมวัดร้างถึงสำคัญ เป็นเพราะเป็นหลักฐานที่ทำให้เห็นรูปแบบของสิ่งก่อสร้างในอดีตได้อย่างชัดเจน ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผิดจากวัดอื่นๆ ที่มีการซ่อมแซมปรับปรุงจึงไม่สามารถหาร่องรอยได้ชัดเจนเท่ากับวัดร้าง

“วัดร้างเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ หรือ ตัวประกอบชิ้นหนึ่งที่ทำให้เห็นการเกิดขึ้นของกรุงเทพได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นว่าในอดีตคนกรุงเทพเคยอยู่ที่ไหน ตั้งชุมชนอยู่บริเวณใด วัดร้างเหล่านี้จะมาช่วยแต่งแต้มข้อมูลทางประวัติศาตร์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าการที่เราจะมุ่งเน้นเฉพาะวัดที่ยังคงอยู่เพียงอย่างเดียว” นายประภัสสร์กล่าว

ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นการเสวนาในเวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมวัดร้างได้แก่ วัดภุมรินทร์ราชปักษี และ วัดน้อยทองอยู่ นำและบรรยายโดยนายประภัสสร์ ทั้งนี้กิจกรรมได้เริ่มต้นขึ้นเรือจากท่าช้าง ไปยังท่าพระปิ่นเกล้า และเเดินเท้าตามเส้นทางจากท่าพระปิ่นเกล้าไปสำรวจ ทั้งนี้มีประชาชนและสื่ิอมวลชนที่สนใจเข้าร่วมการเยี่ยมชมวัดร้างทั้งสองแห่งราว 100 คน

ด้าน นายรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ได้เข้าร่วมงานในวันนี้กล่าวว่า ส่วนตัวรู้จักกับนายประภัสสร์ และเห็นถึงการทำงานอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว และด้วยความสนใจกับประวัติความเป็นมาของกรุงเทพ การสำรวจวัดร้างของนายประภัสสร์ถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ของประวัติศาสตร์กรุงเทพ

“การสำรวจของนายประภัสสร์ทำให้เห็นถึงข้อมูลใหม่ว่ากรุงเทพเคยมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นอีกมุมหนึ่งเพราะตามปกติแล้วเรามักศึกษาประวัติศาสตร์ตามศูนย์กลางของเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว ทำให้เราเห็นว่ากรุงเทพมีอะไรมากกว่าที่เราคิด” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

วัดร้าง1

ขณะที่ นางสาวพรทิพย์ หาญพานิช หนึ่งในผู้เข้าร่วมงาน กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นคนในพื้นที่และสนใจในประวัติศาสตร์มาโดยตลอดจึงได้มาเข้าร่วมงานวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์เป็นอย่างมากเพราะทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ที่เราอยู่นั้นเคยมีความเป็นมาอย่างไร วัดร้างที่เราเห็นนั้นทำไมจึงเกิดขึ้นในอดีต และทำไมจึงกลายเป็นวัดร้างในวันนี้

“ส่วนตัวติดตามงานเสวนาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาตร์ของทางมติชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะการทัวร์ประวัติศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ คิดว่างานนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในงานที่เปิดความรู้ใหม่ให้แก่สังคม และอยากจะให้มีการจัดเสวนานอกสถานที่แบบนี้อีกในอนาคต” นางสาวพรทิพย์ กล่าว

วัดร้างในบางกอก

วัดร้าง

วัดร้าง

วัดร้าง

วัดร้าง

วัดร้าง

วัดร้าง

วัดร้าง

วัดร้าง2

เสวนาวัดร้าง

วัดร้างในบางกอก ผลงานจากการสำรวจค้นคว้าโดยประภัสสร์ ชูวิเชียร
วัดร้างในบางกอก ผลงานจากการสำรวจค้นคว้าโดยประภัสสร์ ชูวิเชียร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image