ศธ.เผยแผนควบรวมร.ร.เล็ก ปี’63-65 กว่า 5.4 พันร.ร.

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นายประเสริฐ  บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานปลัดศธ. มีหนังสือ ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 แจ้งให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)ทุกแห่งร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)และสถานศึกษา รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 120 คนลงมา และได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวมของ(ศธ.) นั้น ล่าสุด สำนักบูรณาการยุทธศาสตร์การศึกษา สำนักงานปลัดศธ. ได้สรุปข้อมูลการทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ได้รับจาก ศธจ.ทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูล ล่าสุด วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ยกเว้นกรุงเทพมหานครที่ไม่มีโรงเรียนขนาดเล็ก  มีโรงเรียนที่ควบรวมแล้ว ทั้งสิ้น 658 โรง  , โรงเรียนไม่ควบรวมมีทั้งสิ้น 3,364 โรง เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่เกาะ พื้นที่สูง ทำให้ไม่สามารถไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่นได้ จำนวน 445 โรง และเป็นโรงเรียนที่ไม่ประสงค์ควบรวม 2,919 โรง   สำหรับโรงเรียนที่จะควบรวมตามแผนปี พ.ศ.2563-2565 มีทั้งสิ้น 5,447 โรงเรียน โดยจะควบรวมในปีงบประมาณ 2563 จำนวน  1,398 โรงเรียน ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2,963 โรงเรียน และปีงบประมาณ 2565 จำนวน 1,086 โรงเรียน ทั้งนี้ตนได้รายงานข้อมูลทั้งหมด ให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับทราบแล้ว

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า  อย่างไรก็ตาม สำนักบูรณาการฯได้สังเคราะห์ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะทำงานบูรณาการจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พบว่า การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อสร้างโอกาสและคุณภาพการศึกษามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ควรมีวิธีการที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นในแต่ละบริบทของพื้นที่ , การนำนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กไปเรียนโรงเรียนหลักเป็นแนวทางหนึ่งที่มีความจำเป็น เพื่อนำไปสู่การสร้างโอกาสและคุณภาพให้แก่ผู้เรียน เพราะทำให้มีครูที่เพียงพอในการดูแลนักเรียน มีสื่อการเรียนการสอนที่เพียงพอและหลากหลาย แต่ก็ต้องฟังความเห็นจากผู้ปกครองและชุมชนด้วย อย่างไรก็ตามได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบจากการควบรวมโรงเรียน เช่น ชุมชนจะขาดสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง การเดินทางไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย และอาจมีผลกระทบต่อสถานภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

“นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้ประสบความสำเร็จด้วย คือ 1.รัฐควรจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้แก่โรงเรียนหลักอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมศักยภาพและคุณภาพของโรงเรียนหลัก โดยวางแผนและกำหนดรูปแบบการพัฒนาให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการอย่างมีอิสระและมีความคล่องตัว 2.รัฐต้องสนับสนุนรายจ่ายที่จำเป็นเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กที่ไปเรียนร่วมอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง 3.ควรต้องมีการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กกับชุมชนและผู้ปกครอง 4.ควรสร้างความมั่นใจให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กว่าจะไม่กระทบสิทธิประโยชน์และความก้าวหน้าในวิชาชีพ  และ 5. นโยบายจากส่วนกลางต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง”นายประเสริฐกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image