ปลัดมท.แจ้งผู้ว่าฯคัดร.ร.พร้อมทำ’เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน’ ตามพระราชดำริ’พระเทพฯ’-ฝึกวัฒนธรรมไทย

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด (กศจ.) เรื่องการใช้กลไก “กศจ.” เร่งปลูกฝังค่านิยมอันดีงามแก่เด็กและเยาวชนว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 10/2559 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์และสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการจัดการศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท รวมทั้งประสานและส่งเสริมการบริหารและการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัดนั้น เพื่อให้การจัดการศึกษาของจังหวัดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ด้านการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการอย่างสอดประสานกัน กระทรวงมหาดไทยจึงกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้กลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดในการสนับสนุนและส่งเสริมให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาในทุกจังหวัด จัดกิจกรรมสร้างเสริมวินัยและรักษาวัฒนธรรมไทยที่ดีงามให้แก่นักเรียน นักศึกษาดังนี้

1.ขอความร่วมมือ กศจ. พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพหรือความพร้อม พิจารณาจัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งแนวทาง ขั้นตอนการดำเนินงาน ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณไปบางส่วนแล้วเพื่อฝึกฝนให้เด็กนักเรียนมีความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรเบื้องต้นและการทำบัญชีค่าใช้จ่ายครัวเรือนซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้หลักการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากโครงการดังกล่าวเพื่อจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย

2.การฝึกฝนให้นักเรียน นักศึกษาเกิดความตระหนักรู้ในเรื่องแบบแผนธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น การเคารพสิทธิผู้มาก่อน โดยการชี้แนะฝึกหัดให้นักเรียน นักศึกษารู้จักการเข้าคิวเข้าแถว ในโรงอาหาร หรือการใช้ห้องสมุดหรือ การเข้าคิวขึ้นรถหน้าโรงเรียน

3.การเคารพกฎกติกามารยาทด้านการจราจร โดยเริ่มจากการชี้แนะให้นักเรียน นักศึกษาที่ขับรถยนต์หรือใช้จักรยานยนต์ มาเรียนหนังสือ ต้องมีใบขับขี่ สวมหมวกกันน็อก และเข้าใจ รู้จักและปฏิบัติตามกฎระเบียบจราจรอย่างเคร่งครัด การจัดระเบียบการจอดรถหรือยานพาหนะรับ-ส่งนักเรียน นักศึกษา ที่บริเวณหน้าโรงเรียนหรือสถานศึกษา เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ชุมชนโดยรอบโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาหรือประชาคมอื่นๆ

Advertisement

4.การฝึกหัดกริยามารยาทในเรื่องการไหว้ การเคารพผู้อาวุโส ตามธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย ตลอดจนการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยจัดเวรหรือร่วมกันทำความสะอาดภายในห้องเรียนหรือบริเวณโรงเรียนหรือการเก็บและแยกขยะของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ให้เป็นระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) โดยอาจมีการให้รางวัลหรือประกาศยกย่องชมเชยเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำความดี

ดังนั้น หากจังหวัดและ กศจ.จะได้พิจารณาดำเนินการตามแนวทางข้างต้นโดยสามารถฝึกหัดนักเรียน นักศึกษาหรือจัดกิจกรรมในโรงเรียนทั้งเรื่องการเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ติดเป็นนิสัยในการดำเนินชีวิต และวัฒนธรรมไทยรวมทั้งสร้างเสริมวินัยในเรื่องต่างๆ จนเป็นนิสัยของลูกหลานโดยเริ่มตั้งแต่เยาว์วัยที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ได้อย่างพร้อมเพรียงกันทุกจังหวัดและต่อเนื่อง แล้วก็จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้การแก้ไขปัญหาสังคมด้านต่างๆ ในระยะยาว สามารถลดผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาลงได้ และจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ประสบความสำเร็จ เช่น เรื่องการลดอุบัติเหตุทางถนน เพราะทุกคนตระหนักและรู้จักมารยาทการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องรวมทั้งมีวัฒนธรรมในการเคารพสิทธิผู้มาก่อนอย่างเคร่งครัดในการเข้าแถวหรือเข้าคิวจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกคนยึดถืออย่างจริงจังต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image