สพฐ.มึนนักเรียนใน กทม.ลดฮวบ เผย ‘สพม.1-2’ จากหลักพันเหลือ100-200คน ชี้ ร.ร.ขยายโอกาสขอยุบมัธยม-เปิดแค่ประถม

สพฐ.มึนนักเรียนใน กทม.ลดฮวบ เผย ‘สพม.1-2’ จากหลักพันเหลือ 100-200 คน ชี้ ร.ร.ขยายโอกาสขอยุบมัธยม-เปิดแค่ประถม

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กพฐ.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่าโรงเรียนประถมศึกษา ที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอที่ประชุมพิจารณาอนุมัติยุบชั้นเรียน จากเดิมที่จัดการศึกษาในระดับประถม และมัธยมต้น ขอยุบเหลือระดับประถมเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน พบโรงเรียนเทศบาลที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เสนอขอให้ที่ประชุมอนุมัติขยายชั้นเรียน จากเดิมที่สอนระดับประถม ขอขยายชั้นเรียนโดยเปิดสอนระดับมัธยมต้น สะท้อนให้เห็นว่า อปท.มีความพร้อม และมีความสามารถในการบริหารจัดการโรงเรียนมากขึ้น โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ถ้ามีโรงเรียนประถม และมัธยมติดกันจำนวนมาก โรงเรียนประถมที่เปิดสอนระดับมัธยมต้นด้วย อาจไม่จำเป็นต้องเปิดสอนระดับมัธยม และให้นักเรียนไปเรียนในโรงเรียนมัธยมที่อยู่ติดกันแทน เพราะปัจจุบันการเดินทางสะดวกกว่าในอดีต ทั้งนี้ ควรพิจารณาประเด็นเหล่านี้ประกอบการพิจารณายุบ และขยายชั้นเรียนด้วย

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า ที่ประชุมหารือร่วมกันเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กด้วย นอกจากจะเน้นการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัดแล้ว สพฐ.ควรดูแลบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ ที่มีนักเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัดด้วย เพราะจากที่ดูข้อมูลโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กรุงเทพมหานคร (สพม.เขต 1 กทม.) และ สพม.เขต 2 กทม.พบว่า มีโรงเรียนมัธยมหลายแห่งมีนักเรียนลดลงอย่างมาก เช่น จากเดิมมี 2,000 กว่าคน ปัจจุบันเหลือ 200 กว่าคน หรือบางแห่งที่เดิมมีนักเรียน 1,000 กว่าคน ปัจจุบันเหลือเพียง 100 คนเท่านั้น เป็นต้น

“อย่าเน้นเรื่องการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กเฉพาะต่างจังหวัดเท่านั้น ควรใส่ใจดูแลโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่มีนักเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัดด้วย ทั้งนี้ สาเหตุที่นักเรียนลด เนื่องจากอัตราการเกิดประชากรน้อยลง ดังนั้น ควรหาทางจัดการโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนโรงเรียนเหล่านี้ ว่าจะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น เช่น สนับสนุนให้โรงเรียนเหล่านี้สอนด้านวิชาการ และเปิดสอนวิชาชีพด้วย โดยประสานส่งนักเรียนไปเรียนสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อาจจะเป็นวิธีหนึ่งในการเพิ่มจำนวนนักเรียนให้กับโรงเรียนเหล่านี้ได้ เป็นต้น” นายเอกชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image