เรามาถึงจุดนี้ได้ไง? ‘การศึกษาไทย’ ที่ใครๆ ก็ตั้งคำถาม

มีความปั่นป่วนชวนมึนงงชวนสงสัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย สำหรับแวดวงการศึกษาไทยในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เริ่มตั้งแต่ข้อสอบโอเน็ต ที่ติวเตอร์ดังออกมาโวยว่าเฉลยผิดพลาด หนุนด้วยนักวิชาการที่พร้อมใจกันพยักหน้าว่าผิดจริง ก่อนเจอมรสุมอีกลูก เมื่อฝรั่งตัวจริงออกมาชี้ว่ามีข้อสอบภาษาอังกฤษเฉลยผิดเช่นกัน

ตามด้วยดราม่าที่เพิ่งจบไปหมาดๆ อย่าง อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่จู่ๆ ก็โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กติติงรูปลักษณ์ของนักศึกษาใหม่อย่าง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กระทั่งถูกวิจารณ์จนต้องยอม “ขอโทษ”

ยังไม่นับการลอกวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดัง การรับจ้างเข้าเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย

เกิดอะไรกับวงการศึกษา และเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

Advertisement
หน้าแรกของสนธิสัญญาเบาว์ริง จากหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (เอื้อเฟื้อภาพโดย คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร)
หน้าแรกของสนธิสัญญาเบาว์ริง จากหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (เอื้อเฟื้อภาพโดย คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร)

เบอร์นีย์-เบาว์ริง สนธิสัญญา’ป่วน’โอเน็ต

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อ อ.ปิง ดาว้องก์ ติวเตอร์ชื่อดัง ออกมาบอกว่า ข้อสอบโอเน็ต ม.6 วิชาสังคมเฉลยผิดพลาดหลายข้อ ที่กล่าวขวัญกันมากเพราะถูกมองว่าผิดแบบชัดๆ มี 2 ข้อ ได้แก่ ข้อ 88 เกี่ยวกับสงครามฝิ่น ซึ่งในภายหลังสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ยอมรับว่าผิดจริง

ส่วนอีกข้อยังเป็นปัญหาคาใจ คือ ข้อ 63 ที่ถามว่า ข้อใดเป็นสนธิสัญญาการค้าฉบับแรกระหว่างไทยกับประเทศในตะวันตก โดยมีตัวเลือก 5 ข้อคือ

1.สนธิสัญญาครอว์ฟอร์ด

Advertisement

2.สนธิสัญญาเบอร์นีย์

3.สนธิสัญญาบรุค

4.สนธิสัญญาเบาว์ริง

5.สนธิสัญญาปาวี

ซึ่งในเฉลยข้อสอบระบุคำตอบที่ถูกว่าเป็นข้อ 4.สนธิสัญญาเบาว์ริง แต่ในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ม.4-ม.6 ซึ่งผ่านการตรวจรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ไทยลงนามไมตรีและพาณิชย์ฉบับแรกกับอังกฤษในปี 2369 หรือเบอร์นีย์ ซึ่งแม้โดนท้วง แต่ผู้จัดทำข้อสอบและเฉลยคำตอบยืนยันว่าเฉลยถูกต้อง เพราะสนธิสัญญาเบอร์นีย์ แม้ทำก่อน แต่ไม่ใช่สัญญาด้านการค้า หากแต่เป็นสัญญาด้าน “ไมตรี”

ทว่า คำชี้แจงนี้สังคมยังเคลือบแคลง เช่นเดียวกับนักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ลงทุนเปิดต้นฉบับสัญญาทั้ง 2 ฉบับแบบบรรทัดต่อบรรทัด แล้วเขียนบทความเผยแพร่ใน “มติชนออนไลน์” ซึ่งกลายเป็นเรื่องฮือฮา เมื่อปรากฏข้อความมากมาย ยืนยันว่า เบอร์นีย์เป็นสัญญาการค้า แม้แต่ข้อความในหนังสือ “เอกสารเฮนรี เบอร์นีย์” ซึ่งตีพิมพ์โดยกรมศิลปากรเมื่อปี 2551 ก็ระบุชัดเจนว่า เป็น สนธิสัญญาการ “พาณิชย์” ฉบับแรกที่ไทยทำกับชาติตะวันตก

เบอร์นี

ไม่เพียงเท่านั้น แอนดรูว์ บิ๊กส์ พิธีกรรายการภาษาอังกฤษชื่อดัง ยังอัดคลิประบุว่า ข้อสอบภาษาอังกฤษบางข้อมีความผิดพลาด จนกระแสสังคมรุมกระหน่ำตั้งคำถามกับ สทศ.อีกรอบ แถมยังมีการล่ารายชื่อเพื่อบี้ให้ประมวลแอดมิสชั่นส์ใหม่อีกด้วย

อาจารย์มหา’ลัยชี้ ควรมีมาตรฐานสูง แซะปีหน้า’ตั้งใจหน่อย’

ความผิดพลาดครั้งนี้กระทบนักเรียนผู้เข้าสอบนับแสนราย ส่งผลให้ผู้เข้าสอบบางคนมีคะแนนเปลี่ยนแปลงคิดเป็น 1 คะแนน ดังนี้ ได้คะแนนเพิ่ม 1 คะแนน จำนวน 135,514 คน คะแนนคงเดิม 156,713 คน และมีคะแนนลดลง 1 คะแนน 131,292 คน จากผู้มีสิทธิสอบ 423,519 คน

นี่ไม่ใช่ปีแรกที่ข้อสอบถูกตั้งคำถาม หากแต่เกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า ข้อสอบโอเน็ตควรมีมาตรฐานสูง และปีหน้าผู้ออกข้อสอบควรตั้งใจทำงานมากกว่านี้

“ผมก็เคยออกข้อสอบพลาดบ้าง แต่ถ้าพลาดคือยกประโยชน์ให้กับคนสอบเลย แต่ข้อสอบโอเน็ตควรเป็นข้อสอบที่มีมาตรฐานสูง ผ่านการตรวจทานเป็นอย่างดี คนออกข้อสอบมีกันหลายคน เข้าใจว่าแต่ละคนก็ออกข้อสอบกันไม่เกิน 5-10 ข้อ ดังนั้น น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ปีหน้าก็ตั้งใจทำงานกันหน่อย ออกข้อสอบให้คนทั้งประเทศมาหลายปีแล้ว”

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

‘เบ้าหน้า’สำคัญกว่าความรู้?

อีกประเด็นเผ็ดร้อนระดับพริกสิบเม็ด คือกรณีของอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านหนึ่ง ที่โพสต์ข้อความติติงหน้าตาของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตใหม่จุฬาฯ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยระบุว่า “จะทำให้อัตลักษณ์ของชาวจุฬาฯเป็นที่เคลือบเเคลงต่อสาธารณชน” ส่งผลให้ผู้คนตั้งคำถามว่ารูปลักษณ์ภายนอกสำคัญขนาดไหน เหตุการณ์นี้สะท้อนอะไรในแวดวงการศึกษา

ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า หากเป็นการพูดรวมๆ ก็แค่สะท้อนทัศนคติว่าอาจารย์ผู้นั้นควรจะไปอยู่ในเวทีประกวด “สาวงาม ชายงาม” มากกว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ถ้าเลือกพูดโดยเจาะจงไปที่เพียงนักศึกษาคนใดคนหนึ่ง ก็สะท้อนอคติที่เขามีต่อนักศึกษาคนนั้น อาจจะเป็นอคติทางการเมือง หรืออคติต่อความรู้ความสามารถที่รุ่นหลังบางคนมีเหนือเขา แม้ในวัยที่เขาเองขณะนี้เป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว

“อาจารย์ที่มีอคติต่อนักศึกษาคนใดคนหนึ่งอย่างนี้ ก็ไม่น่าเชื่อถือว่าเขาจะสามารถให้ความเป็นธรรมกับนักศึกษาคนอื่นๆ ได้หรือเปล่า แล้วเขาจะให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชังได้หรือเปล่า ยิ่งถ้าเป็นคนที่สอนคนให้เป็นครูด้วยแล้ว ยิ่งน่าสงสัยในจริยธรรมของการเป็นครู”

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

ชนชั้น อำนาจ การศึกษา ชี้ค่า’สวย-หล่อ’

ส่วนประเด็นที่ว่า อัตลักษณ์จุฬาฯ และใบหน้าของเนติวิทย์นั้น เหตุใดจึงถูกคาดหวังจากบุคคลหรือกลุ่มคนว่าต้องมี “ภาพจำ” เช่นนั้นเช่นนี้ ยุกติวิเคราะห์ว่า เพราะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยใหญ่แถวสามย่านซึ่งมักเป็นลูกหลานคนมีฐานะ ซึ่งไม่ได้มีแต่อำนาจทางเศรษฐกิจ แต่มีอำนาจทางวัฒนธรรมด้วย นั่นคือ อำนาจในการกำหนด “ความงาม” ซึ่งการศึกษากับชนชั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ส่วนใหญ่คนเรียนดีคือคนที่มีโอกาสในสังคมสูงกว่าคนอื่นนั่นเอง

“การศึกษากับชนชั้นเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกอยู่แล้ว แล้วความงามกับชนชั้นก็เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกเช่นกัน มหาวิทยาลัยใหญ่แถวสามย่านมีลูกหลานคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถเข้าศึกษาได้ แน่นอนว่าพวกเขาเรียนดี แต่ส่วนใหญ่คนที่เรียนดีคือคนที่มีโอกาสทางสังคมมากกว่าคนอื่น ยิ่งการศึกษาไทยเป็นระบบที่บิดเบี้ยว แก้เท่าไหร่ก็ไม่ตก ที่จะให้เกิดการกระจายของความรู้ไปในท้องถิ่น ความรู้สูงๆ คนมีความรู้ดีๆ ก็กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ และจึงอยู่ในกลุ่มคนมีฐานะดีถึงดีมาก

ทีนี้ คนมีฐานะ ไม่ได้มีแต่อำนาจทางเศรษฐกิจ เขามีอำนาจทางวัฒนธรรมด้วย มีอำนาจกำหนดความงามด้วย อะไรสวย ผิวพรรณแบบไหนที่เขาชอบ หน้าตาแบบไหนที่ดูดี มันถูกกำหนดมาจากอำนาจทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น ทรรศนะต่อความงามที่ยึดเอาผิวพรรณขาว ซึ่งมีมาเนิ่นนานในสังคมไทย ที่เป็นสังคมชนชั้น ผิวขาว ผิวนวล ผิวสีทอง ผมตรง คือชนชั้นสูง ผิวคล้ำ ผิวดำ ผมหยิก คือชนชั้นล่าง” ยุกติกล่าว

ดร.เปรม สวนสมุทร อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เปรม สวนสมุทร อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จวกภาพใหญ่ มหา’ลัยต้องรับใช้สังคม

ยุกติยังวิเคราะห์ถึงความ “ดูดี” ของนักศึกษาแถวสามย่านว่า คนมีฐานะดีก็มีโอกาสที่จะดูดีได้มากกว่าคนฐานะไม่ดี ทั้งข่าวสารข้อมูล การแต่งตัวตามแฟชั่น ความงาม และโอกาสที่จะได้ซื้อ

เสื้อผ้าได้บ่อยๆ ด้วยเงินแม้จะไม่มาก แต่เมื่ออยู่ใจกลางเมืองในย่านแฟชั่น ก็ยิ่งทำให้นักศึกษาแถวสามย่านมีโอกาสดูดีได้มากกว่าที่อื่น ทั้งหมดนั้นทำให้เกิดชุดความคิด เป็นความคาดหวังที่สังคมและที่คนในมหาวิทยาลัยนั้นเองคิดว่านักศึกษาที่นั่นต้องหน้าตาดี

“มหาวิทยาลัยรับเงินภาษีจากชาวบ้านมาบริหารจัดการ ไม่ใช่ว่าคุณบอกว่าออกนอกระบบแล้วจะเป็นอิสระ จะปลอดจากการต้องรับใช้สังคม อาจารย์มหาวิทยาลัยเติบโตมากับการรับเงินภาษีจากรัฐมายาวนาน ปัจจุบันงบประมาณด้านการวิจัยก็ยังได้รับจากรัฐบาลไม่น้อย แล้วมาดูถูกลูกชาวบ้านแบบนี้ ผมว่าสมควรให้สังคมพิจารณาว่าคนแบบนี้เหมาะสมกับการเป็นอาจารย์สอนคนไปเป็นครูหรือเปล่า” ยุกติปิดท้าย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ที่คงต้องหาทางแก้ไขไม่ให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนเกินเยียวยา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image