‘หมอธีระเกียรติ’จี้มหา’ลัยเน้น’วิจัย-คิดนอกกรอบ’ ชู ม.อินเดียต้นแบบผลิตผู้นำ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บัณฑิตศึกษากับการพัฒนาประเทศสู่อนาคต” ในงานเสวนาวิชาการ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : หลักสูตรบัณฑิตศึกษาสู่อนาคต ที่ห้องประชุมสำนักงานวิทยทรัพยากร อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “บัณฑิตศึกษา (Graduate Education)” โดยเฉพาะระดับปริญญาเอก ควรเป็น Research Degree คือการทำวิจัยขนานใหญ่และคิดในเรื่องที่ไม่มีคนคิด เพราะมีผลกับการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจะต้องตั้งความคาดหวังในการพัฒนาการศึกษาตามบริบทของตนเอง ไม่จำเป็นต้องจัดการศึกษาเหมือนกันหมด มหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบจุฬาฯ ส่วนจุฬาฯ ก็ไม่ต้องเป็นแบบ MIT แต่ทุกสถาบันควรกำหนดความคาดหวังและมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ได้ พร้อมทั้งจัดระบบตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างมีคุณภาพจริงๆ โดยสถาบันแต่ละแห่งควรเป็นผู้กำหนดคุณภาพเอง และให้หน่วยงานต่างๆ ภายนอกเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนการประเมินผลภายหลังการดำเนินงาน มิใช่ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มาเป็นผู้กำหนดและตรวจสอบการดำเนินการ

“ส่วนการเปิดหลักสูตรครู ไม่ควรนำนักการศึกษามาสอนครู เพราะครูไม่ใช่นักการศึกษา บางคนจบปริญญาเอกด้านประเมินผล แต่ทั้งชีวิตไม่เคยเป็นครูเลย ทำให้มีหลักสูตรในสาขาวิชาที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก และการศึกษาระดับปริญญาเอก ไม่ควรมีการเรียนนอกเวลา” รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กล่าว และว่า จากการศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอินเดีย พบว่าได้พัฒนารูปแบบสัดส่วนการเรียนการสอนมาเป็นเวลากว่า 35 ปีแล้ว โดยมีสัดส่วนเวลาเรียนด้านวิชาการ 60% วัฒนธรรม 10% อารมณ์ 10% การบริการ 10% และพลศึกษา 10% และได้บูรณาการความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรมในระดับสูง เน้นการวิจัยและมีความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม มีความเชื่อมโยงงานวิจัยกับนักศึกษาด้วย ที่สำคัญคือให้เรียนฟรี จึงมีผลทำให้อัตราการแข่งขันสูง ไร้ระบบอุปถัมภ์ในการฝากเข้าเรียน มีอำนาจในการกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นทั้งด้านสติปัญญาและความมีคุณธรรมในระดับสูง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม โดยนักศึกษาต้องมีส่วนร่วมกิจกรรมรับใช้ชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ สนับสนุนอาหาร การซ่อมแซมบ้านเรือน ดังเช่นอาชีวะอาสาของไทย ดังนั้น จึงมีแรงบันดาลใจที่จะตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบเดียวกับอินเดียในประเทศไทย เพื่อผลิตผู้นำที่ดีให้กับประเทศ และเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่สามารถนำแนวคิดของมหาวิทยาลัยในอินเดียไปปรับใช้ตามบริบทที่เหมาะสมได้

ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ (2)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image