‘เจ้าคุณประสาร’จับตากฤษฎีกาตีความม.7ปมตั้งสังฆราช เตือนตีความผิดจารีตเจอปัญหาใหญ่แน่

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ) เปิดเผยถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาให้ข่าวแสดงความมั่นใจว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะใช้หลักการพิจารณาและตีความมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่วินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นต้นเรื่องในการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ว่า เป็นเรื่องที่แปลกมากที่นายไพบูลย์สามารถเดาใจกฤษฎีกาว่าจะตีความกฎหมายมาตรา 7 เช่นเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้ จากการหารือกับเจ้าคณะผู้ปกครอง หลายๆ ท่านไม่สบายใจ เพราะกำลังมีผู้เอาเรื่องปกครองคณะสงฆ์ไปสู่ความขัดแย้ง เอากฎหมายของสงฆ์ไปตีความให้เกิดปัญหาภายใน ทั้งที่ข้อเท็จจริงบทบัญญัติในมาตรา 7 ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม (มส.) เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ มส. เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช” มีเจตนารมณ์ และวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน คือ ให้พระสงฆ์ปกครองภายในกันเอง

“ไม่คาดคิดว่าจะมีคนมาตีความกฎหมายในมาตรา 7 ให้แปลกไปจากเจตนารมณ์และจารีตประเพณีของคณะสงฆ์ ถ้ากฤษฎีกาตีความตรงไปตรงมาคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าตีความตรงกับเจตจำนงของผู้ร้อง ทำให้คณะสงฆ์แตกแยก ปัญหาจะตามมาอีกมากมายแน่นอน โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดกับคณะสงฆ์ในห้วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม ศพศ และองค์กรพุทธฯทั่วโลก จะเฝ้าจับตาการตีความกฎหมายของกฤษฎีกาอย่างใกล้ชิด และขอให้กฤษฎีกาคำนึงถึงความถูกต้องดีงามเป็นหลักในการตีความกฎหมาย” พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image