ชำแหละผลงาน 3 รมต.ศธ. ฝ่าวิกฤต ‘คุณภาพการศึกษา’ รับปีหนู

ปี 2562 ถือเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากสำหรับแวดวงการศึกษา เรียกว่าเป็นปีหมูที่ไม่หมู สำหรับรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กุมบังเหียน พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ก่อนที่รัฐมนตรีทั้ง 3 จะไขก๊อกลาออกในเดือนพฤษภาคม เพื่อรับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลังจากนั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ช่วงเวลานั้น ศธ.แทบเป็นสุญญากาศทันที

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เดือนมีนาคม 2562 ผลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ ก็เริ่มจัดทัพรัฐบาลตู่ 1 ขึ้น สังคมเริ่มจับตา ศธ.ในฐานะกระทรวงใหญ่ ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท จัดเป็นอันดับหนึ่งมากสุดในบรรดาทุกกระทรวง แต่กลับเป็นกระทรวงที่ไม่มีใครอยากเข้ามาคุม คงเพราะปัญหาภายในกระทรวงที่คั่งค้างมากมายรอการแก้ไข อีกทั้งกว่าจะสร้างผลงานได้ ต้องใช้เวลานาน

ต่อมาเดือนกรกฎาคม โฉมหน้าเจ้ากระทรวงตัวจริงออกมา ประกอบด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ จากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

Advertisement

ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา กลายเป็นว่าภาพรวมผลงานของรัฐมนตรีทั้ง 3 ไม่เข้าตา และการทำงานยังไม่เข้าขากันเท่าที่ควร!!

เริ่มจาก “ครูตั้น” ที่รับดูแล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) แม้จะรับผิดชอบดูแลงานใหญ่ แต่ยังไม่มีผลงานที่เด่นชัดมากนัก อย่างเช่นการปรับปรุงโครงสร้างศธ.ที่นายณัฏฐพล แต่งตั้ง นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างศธ.เพื่อแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจกลัวการเคลื่อนไหวและลุกฮือประท้วงจากครูและบุคลากรการศึกษา จึงต้องคิดให้รอบคอบ ยึดประโยชน์และคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก

ตามมาด้วย การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ครม. มีมติเห็นชอบให้ สพฐ.ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย งานนี้เริ่มเห็นรูปธรรมเมื่อ นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. เสนอแผนควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กปีการศึกษา 2563-2565 จำนวนกว่า 5,400 โรงเรียนแล้ว
สำหรับปัญหาคั่งค้างต่างๆ อย่างปัญหาทุจริตภายในกระทรวง โดยเฉพาะการทุจริตอาหารกลางวันและปัญหาหนี้สินครู ก็ยังค้างคา โดยศธ.แต่งตั้ง นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการศธ. ขึ้นมาคุมบังเหียน เดินหน้ารวบรวมปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ และเร่งหาทางแก้ไขให้เป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งมหากาพย์ “อควาเรียมหอยสังข์” หรือโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใน วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา สังกัด สอศ. ผ่านมา 10 ปี ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ และดูท่าร้างยาว เพราะเสนอของบก่อสร้างสำหรับงบปี 2562 และปีงบประมาณ 2563 ไม่ทัน ต้องเลื่อนไปขออนุมัติในปีงบประมาณ 2564

นอกจากนี้ ยังเจอม็อบสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและเครือข่ายลูกจ้างชั่วคราว สังกัด สพฐ. กว่า 1,000 คน บุกศธ.พร้อมชูป้ายผ้าขอความเป็นธรรม โดยขอคืนสิทธิประกันสังคมและการจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน จากเดิมที่สำนักงบประมาณไม่จัดสรรเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวทุกตำแหน่ง และให้สพฐ.ปรับวิธีการจ้างจากเดิมตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนเป็นตำแหน่งจ้างเหมาบริการ

จน ศธ.ต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาโดยได้หารือกับสำนักงบประมาณ ทำเรื่องขอแปรงบอุดหนุน ปี 2562 กว่า 500 ล้านบาท นำมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ครูธุรการและภารโรงทุกคน ถือว่าจบลงด้วยดี

ต่อมาคือ “คุณหญิงกัลยา” รับผิดชอบดูแลสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ชูนโยบายผลักดันโค้ดดิ้ง เพื่อหวังเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตให้เป็นระบบ มีเหตุ มีผล โดยมีการอบรมครูสอนโค้ดดิ้งจำนวน 1,000 คน ในเดือนตุลาคม 2562 พร้อมกับสอนนักเรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อม ในระดับประถมศึกษา 1-3 เป็นต้นไป

รัฐมนตรีน้องใหม่คนสุดท้าย นางกนกวรรณ หรือ “ครูพี่โอ๊ะ” รับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ผลงานที่ผ่านมาพอมีจุดเด่น สร้างความฮือฮาบ้าง เช่น ทำหลักสูตร “กัญชาพาเรียนวิทยาศาสตร์” ตั้งเป้าว่าจะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 1/2563 ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของ กศน. พร้อมกันนี้มีนโยบาย “กศน. สช. WOW WOW ก้าวสู่ยุคดิจิทัล” โดยให้ กศน.และ สช.คิดพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ให้ผู้ที่สนใจสามารถล็อคอินลงทะเบียนเรียนผ่านแอพพลิเคชันได้ตลอดเวลา

นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา และนักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า บทบาทของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องแก้ไขในเชิงนโยบาย และนโยบายที่สำคัญต้องมีความชัดเจนว่าจะพัฒนาคนในประเทศไปในทิศทางใด การรู้ว่าคนในประเทศควรมีคุณลักษณะอย่างไรในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ตนคิดว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 มีความเข้าใจเป็นอย่างดี ภาพรวมการทำงานของนายณัฏฐพล งานในเชิงโครงสร้างหรือนโยบายที่เห็นผลค่อนข้างชัดเจน คือ การเปลี่ยนความคิด ทรรศนะคติของบุคลากรในการผลักดันและเพิ่มผู้เรียนอาชีวะ แม้ว่าจะขรุขระบ้าง แต่ยังเห็นเป็นรูปธรรม ตนขอให้คะแนนการทำงานในส่วนนี้ 7 คะแนน

“ส่วนการกำกับดูแล สพฐ. ขอให้ 5 คะแนน แม้จะทราบปัญหา แต่การขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปัญหาหลักที่ต้องแก้ไข คือ ครูออกนอกห้องเรียนซึ่งยังแก้ไขไม่ได้ ระบบประเมินวิทยฐานะที่มีปัญหาค้างคามานานยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมทั้งโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นปัญหาจุกอกของรัฐบาล แม้จะดูเหมือนมีทางออกในทิศทางที่ดี แต่สุดท้ายไม่กล้าทำ เพราะอาจกลัวว่าทำแล้ว จะมีการประท้วง และคะแนนเสียงอาจหาย ปัญหาหนี้สินครู ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่มีมานานเช่นกัน แม้ไม่ใช่ปัญหาที่ ศธ.ต้องแก้ไขอยู่ฝ่ายเดียว เพราะต้องขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของครูด้วย แต่ในเชิงนโยบาย ศธ.ต้องหารือกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ไม่ใช่ให้ครูต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินของตนเอง” นายอดิศรกล่าว

นอกจากนี้ นายอดิศร ให้ความเห็นอีกว่า ภาพรวมการดำเนินงานของ ศธ. ตนให้แค่ 5 คะแนน สิ่งที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาพที่ชัดเจน คือ การพัฒนาอาชีวะอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้คนมาเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือการปรับโครงสร้าง ศธ. โดยเฉพาะโครงสร้างในส่วนภูมิภาคที่ยังมีปัญหาอยู่ แม้เดินหน้าปรับปรุง แต่การทำงาน เหมือนกับกลัวความเคลื่อนไหวทางการเมือง
นายอดิศรกล่าวต่อว่า ภาพรวมการทำงานของคุณหญิงกัลยา ตนให้ 7 คะแนน เนื่องจากมีความโดดเด่นในการผลักดันนโยบายการเรียนโค้ดดิ้ง ที่เป็นนโยบายที่อัพเดตและทันสมัย การดำเนินการตามนโยบายที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้สั่งการทีเดียวและต้องลงมือทำทันที และสามารถตอบโจทย์และพัฒนาการศึกษาได้ ซึ่งตนอยากให้ผลักดันโค้ดดิ้งเข้าสอนในทุกชั้นเรียน แต่นโยบายเรื่องอื่น เช่น การส่งเสริมการอ่าน ท่องบทอาขยาน หรือส่งเสริมการเรียนประวัติศาสตร์ยังไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรมากนัก

นโยบายการศึกษาของนางกนกวรรณนั้น นายอดิศร มองว่ายังไม่มีอะไรเด่น ยังสอบไม่ผ่าน การผลักดัน กศน.ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งที่ กศน.ควรเป็นหน่วยงานที่ตอบโจทย์การศึกษาตลอดชีวิตของคนในสังคม ส่วนการสร้างหลักสูตรกัญชาให้กับผู้เรียน กศน.นั้น ยังไม่ใช่เรื่องเด่น แม้จะเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์อยู่บ้าง แต่เรื่องเหล่านี้ถือเป็นนโยบายที่เกิดมาตามกระแสนิยม เพราะขณะนี้คุณค่าและประโยชน์ทางวิชาการของกัญชายังถกถียงในแวดวงวิชาการอยู่

“รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีความคิดความอ่านก้าวหน้า แต่วิธีการที่จะผลักดันให้เกิดผล ยังกลัวการเมือง กลัวการเคลื่อนไหวของครูมากเกินไป ดังนั้นภาพรวมของศธ.ในปี 2562 ถือว่าแป้กอยู่ และไม่ปังเท่าที่ควร แต่ยังมีโอกาสที่จะปังได้ ขอแค่มีความกล้าที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างศธ.” นายอดิศร กล่าว

สรุปภาพรวมตลอดปีของเสมาทั้ง 3 คน ถือว่ายังคงแป้ก ไม่เป๊ะปังเท่าที่สังคมตั้งความหวังไว้ แต่ในความแป้กนั้น ก็ยังมองหาผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันเจออยู่บ้าง ต้องจับตาดูปี 2563 ว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 ของศธ.จะเข็นผลงานและพัฒนาการศึกษาไทยไปในทิศทางไหน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image