เหลียวหน้าแลหลัง…งานวัฒนธรรม ปี’63 ลุ้น ‘อิทธิพล’ โชว์ของดีปี ‘หนูไฟ’

ผ่านปีหมู 2562 ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับความเคลื่อนไหวในแวดวงวัฒนธรรมภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่ง “เฮียติ๊ก” นายอิทธิพล คุณปลื้ม พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะตัวแทนกลุ่มพลังชน มานั่งคุมกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ต่อจาก นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ.ที่อยู่มานานกว่า 5 ปี…

ภาพคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ดูเหมือนจะสร้างความหวังว่า วธ.ยุครัฐมนตรีอิทธิพล จะมีอะไรให้หวือหวา กระชุ่มกระชวย และสร้างผลงานชิ้นโบแดงให้ได้ชมกัน หลัง วธ.ครองแชมป์ “แดนสนธยา” มานานหลายปี

แต่สุดท้าย ก็ไม่ทิ้งคอนเซ็ปต์เดิมๆ เพราะ 6 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีผลงาน หรือนโยบายที่จับต้องได้ออกมา ให้สมกับที่รอคอยกันมายาวนาน !!

แม้กระทั่งนโยบายที่ประกาศไว้ในวันเข้ารับตำแหน่ง อย่างการนำงานวัฒนธรรมไปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมดูแลความเป็นไทย ที่ถูกละเลย อาทิเช่น วัฒนธรรมการทักทายแบบไทยๆ อย่างการไหว้ เป็นต้น ก็ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม

Advertisement

ขณะที่งานเดิมๆ อย่าง การติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นงานรัฐบาลให้ความสำคัญ ก็เกือบจะเงียบหาย แต่มาเคลื่อนไหวเอาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปี ซึ่งมีการประชุมนัดแรกที่รัฐมนตรีว่าการ วธ.คนใหม่เป็นประธาน ทวงคืนโบราณวัตถุ 124 รายการ กลับคืนสู่ประเทศไทย ในจำนวนนี้ ได้ทำหนังสือติดตามไปยังต่างประเทศแล้ว 74 รายการ ส่วนที่เหลือกว่า 50 รายการ ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นของไทย 100%

พร้อมกับเปรยๆ ถึง “ข่าวดี” เกี่ยวกับความคืบหน้าในการติดตามโบราณวัตถุ 2 รายการสำคัญ ว่ามีแนวโน้มที่จะได้คืน คือ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว ซึ่งจัดแสดง ณ Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าจะทวงคืนได้ภายใน 6 เดือนแรกของปี 2563

อีกทั้ง ยังพบโบราณวัตถุที่ต้องติดตามทวงคืนเพิ่มอีก 1 รายการ คือ พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดี เป็นโบราณวัตถุในสมัยทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 13 ที่ปรากฏในฐานข้อมูลของสถาบันเอเชียโซไซตี้ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

Advertisement

ส่วนประเด็นทางสังคม ที่หลายภาคส่วนเรียกร้องให้ วธ.ออกมาแสดงความคิดเห็น และเป็นแกนหลักในการธำรงรักษา และสร้างสรรค์ วัฒนธรรมที่ดีงาน เป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชน ก็ยังไม่เห็นท่าทีที่ชัดเจน …

มีแต่เรื่องให้สังคม “คาใจ” อย่างกรณีการสอบสวนข้อเท็จจริง การสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการตำแหน่งนักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ สังกัดกองพระราชพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน จำนวน 150 อัตรา ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพิธีการศพ ซึ่งเป็นงานที่สำนักพระราชวังได้โอนภารกิจงานเกี่ยวกับพิธีศพในพระราชานุเคราะห์ให้ วธ.เป็นผู้รับผิดชอบ “ส่อทุจริต”

เนื่องจากมีข้อร้องเรียนว่ามีการนำข้อสอบที่ใช้สอบจริงไปให้ผู้เข้าสอบที่เป็นอดีตผู้ติดตาม และทีมงานของอดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ.ดูก่อน ทำให้สอบติดในลำดับต้นๆ หลายราย

ประเด็นนี้ หลายคนๆ ฟันธงว่าน่าจะเป็น “มวยล้ม ต้มคนดู” ยื้อเวลา โดยสรุปผลสอบข้อเท็จจริงชุดที่ผู้ตรวจราชการ วธ.เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ เจอโรคเลื่อนแล้วเลื่อนอีกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนพ้นปีใหม่ 2563 ไปแล้ว ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

อีกทั้ง การสรุปข้อเท็จจริงแต่ละครั้งที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ รายงานนายอิทธิพล ระบุแค่ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง แต่หาตัว “คนผิด” หรือผู้รับผิดชอบ “ไม่ได้” แม้แต่คนเดียว

และจนถึงขณะนี้ ผู้เข้าสอบหลายคนที่เป็นอดีตผู้ใกล้ชิด หรือติดตามอดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ.ที่ถูกกล่าวหารู้ข้อสอบล่วงหน้า ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการไปเรียบร้อยแล้ว !!

แต่เจ้ากระทรวง วธ.อย่างนายอิทธิพล ก็ยังไม่กล้าตัดสินใจสั่งฟัน หรือแม้กระทั่งสั่งเปลี่ยน หรือสั่งตั้ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดใหม่ …

มองเผินๆ เหมือนเป็นการให้เกียรติข้าราชการประจำ แต่อีกนัยหนึ่ง ก็ทำให้เป็นถึงความ “ไม่เด็ดขาด” ของ “เฮียติ๊ก” ที่ยังคงทำให้ วธ.หนีไม่พ้นจากการเป็นดินแดนสนธยา ที่มี “ข้าราชการประจำ” เป็น “ผู้คุมเกม” ที่คนนอก หรือนักการเมือง ก็เข้าไปยุ่ง หรือจัดการอะไรไม่ได้

ขณะที่กูรูด้านวัฒนธรรมฝีปากกล้าอย่าง นายสมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอุษาคเนย์ มองภาพ 6 เดือน การขับเคลื่อน วธ.ภายใต้การกุมบังเหียนของนายอิทธิพล ว่า ยังคงเป็นการทำงานแบบรูทีน ที่ผ่านมาเห็นความพยายามจะเสนอนโยบาย แต่ก็ยังไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นหวือหวา รัฐมนตรีว่าการ วธ.คนใหม่ เข้ามาสานงานต่อคนเก่า ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นอะไรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก จะอ้างว่าเป็นเพราะงานพระราชพิธี หรือต้องไปเปิดงานต่างๆ ก็คงไม่ใช่ เพราะงานเหล่านั้น แม้ไม่มีรัฐมนตรีว่าการ วธ.บรรดาข้าราชการประจำก็ทำกันอยู่แล้ว

“รัฐมนตรีว่าการ วธ.ต้องทำสิ่งใหม่ แก้ไขสิ่งเก่าที่ไม่ดี อย่างเช่น ต้องลงไปดูว่า วัฒนธรรมไทย มีอะไรบ้างที่ต้องทำลาย รักษา และสร้างให้เกิดขึ้นใหม่ ที่ผ่านมายังไม่เห็นการทำงานในมิตินี้ วธ.ยังคงเป็นกระทรวงอนุรักษ์นิยม รักษาของเก่าไว้ ซึ่ง เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องทำงานในมิติอื่นๆ เพิ่มด้วย” นายสมฤทธิ์ กล่าว

นายสมฤทธิ์กล่าวต่อว่า การทำงานวัฒนธรรม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมนตรีว่าการ วธ.มีชั่วโมงบินน้อย หรือมาก แต่ปัญหาคือ นายอิทธิพลไม่มีความรู้เรื่องวัฒนธรรม ยังไม่เห็นภาพการทำงานที่เอาใจใส่วัฒนธรรมเท่าที่ควร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนายอิทธิพลเท่านั้น แต่หมายถึงรัฐมนตรีว่าการ วธ.เกือบทุกคน ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ค่อยมีความภาคภูมิใจที่เข้ามาทำงานในกระทรวงนี้ วธ.เป็นกระทรวงที่ไม่มีใครอยากเข้ามาอยู่ เพราะเป็นกระทรวงเล็ก แต่เมื่อเข้ามาอยู่แล้ว อะไรที่ไม่รู้ ก็ต้องถาม และรับฟังอย่างเปิดกว้าง ไม่ใช่ฟังเฉพาะคนกันเอง หรือเชื่อแต่ข้าราชการประจำเท่านั้น

“หากให้ประเมินการทำงานของนายอิทธิพลกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ผมให้ 6 เต็ม 10 คะแนน เพราะงานอนุรักษ์วัฒนธรรมเดิม ก็สามารถทำได้ดีต่อเนื่อง เพียงแต่ยังไม่เห็นการทำงานในมิติอื่นๆ ทั้งการทำลายวัฒนธรรมที่ไม่ดี และการสร้างวัฒนธรรมใหม่ รวมถึง การดูแลปัญหาเรื่องทุจริตต่างๆ ใน วธ.ที่ควรทำให้เห็นภาพชัดเจน และทำให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นวัฒนธรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งผมเองยังให้โอกาส เพราะเพิ่งทำงานไป 6 เดือน” นายสมฤทธิ์ กล่าว

ขณะที่ นายรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) มองคล้ายกันว่า การทำงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังเป็นการสานต่อนโยบายของอดีตรัฐมนตรีมนตรีว่าการ วธ.โดยให้คะแนนการทำงานอยู่ที่ 6 เต็ม 10 คะแนน เพราะยังไม่เห็นผลงานใหม่ แต่ยังถือว่าสานต่องานเดิมได้เรียบร้อยดี ถูกใจแม่ยก โดยเฉพาะกรมศิลปากร

นายรุ่งโรจน์กล่าวต่อว่า ส่วนในปี 2563 อยากให้รัฐมนตรีว่าการ วธ.โชว์ผลงานใหม่ โดยเฉพาะกรมศิลปากร ต้องผลักดันให้เป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ประชาชน ไม่ใช่ทำตัวเป็นเจ้าของความรู้ ที่เข้าถึงได้ยาก รวมถึง เปิดช่องให้ประชาชนได้เข้าร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ กิจกรรมทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น เพราะ วธ.ไม่ใช่เจ้าของวัฒนธรรม แต่ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการวัฒนธรรมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“ยอมรับว่า การทำงานของ วธ.เปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะยังติดอยู่กับระบบราชการ โดยเฉพาะกรมศิลปากร ที่ยังทำงานแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งหากยังทำแบบนี้ต่อไป คงไม่ใช่แค่แดนสนธยา แต่จะเป็นแดนรัตติกาล ดังนั้น เจ้ากระทรวงต้องกล้าคิด กล้าตัดสินใจ มีนโยบายใหม่ๆ ที่ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกันวัฒนธรรมมากขึ้น ผมเองยังพอมีความหวังว่าปี 2563 รัฐมนตรีว่าการ วธ.จะมีของดีมาโชว์ ให้ได้ชื่นชมกันมากขึ้น” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

โดยสรุปภาพรวมของ วธ.ในปี 2562 แม้จะยังไม่เห็นผลงานแปลกใหม่ เข้าตา และเข้าถึงใจของประชาชน ซึ่งบรรดากูรูด้านวัฒนธรรมถือว่าใจดี ให้คะแนนผ่านเส้นยาแดงอย่างฉิวเฉียด แต่ก็ยังไม่ถือว่าสอบตก เพราะรัฐมนตรีว่าการ วธ.เพิ่งทำงานไปแค่ 6 เดือน

คงต้องลุ้นกันต่อว่า ปีหนูไฟ 2563 วธ.ใต้เงา “อิทธิพล คุณปลื้ม” จะมีของดี ของเด็ด อะไรมาโชว์ให้คนไทยได้กระปรี้กระเปร่า หรือ วธ.จะยังคงครองแชมป์แดนสนธยายาวไป…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image