แฉแม่พิมพ์แห่กู้เงินนอกระบบ เหตุศาล ปค.ห้ามเจ้าหนี้ในระบบหักเงินเดือนต่ำกว่า 30% ใช้หนี้

เมื่อวันที่ 5 มกราคม นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ว่า สำหรับภาพรวมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้น จะดำเนินการตามแนวทางของคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่ดูแลแก้ปัญหาหนี้ครูทั้งระบบ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าปัญหาหนี้สินครู เป็นตำนาน มีมาหลายยุคหลายสมัย ส่วนตัวเห็นว่าทางแก้ปัญหาหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้เร็ว คือลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ครูสามารถผ่อนเงินต้นได้มากขึ้น หรือมีความคล่องตัวทางการเงิน ซึ่งนายอนุชาอยู่ระหว่างพูดคุยกับสถาบันการเงิน แต่ก็ทราบว่าหลายฝ่ายกังวลกรณีที่ศาลปกครองกลางพิพากษาเรื่องการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ว่าเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้ว ต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ต่อเดือน

นายดิศกุลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นด้วยที่การหักเงินเพื่อใช้หนี้ ควรให้ครูมีเงินเดือนเหลือติดบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ30 ต่อเดือน เพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ที่ผ่านมามีครูจำนวนหนึ่ง รวมตัวเรียกร้องให้ปลดล็อกเรื่องดังกล่าว เพราะได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินเดือนเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 หรือร้อยละ 30 พอดี เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว

“เรื่องนี้ถือว่าส่งผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะปรากฏว่าครูจำนวนมากรวมกลุ่มร้องเรียนมาที่ผมว่าได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ เพราะติดคำสั่งศาลปกครอง บางคนตัดสินใจไปกู้นอกระบบ เพื่อนำเงินมาใช้ กลายเป็นปัญหาเพิ่มขึ้น ดังนั้น ส่วนตัวผมเห็นว่า อาจจะต้องทบทวน ลดจำนวนเงินเหลือติดบัญชีให้น้อยลง เช่น เหลือร้อยละ 20 เป็นต้น เพื่อผ่อนคลาย ไม่ให้กระทบภาพรวม แต่เรื่องนี้มีทั้งบวก และลบ จึงต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาให้รอบด้าน” นายดิศกุล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image