ปลัด ศธ. จี้ ‘องค์การค้าฯ’ ส่งหนังสือเรียนถึงมือเด็กให้ทันเวลา

ปลัด ศธ. จี้ ‘องค์การค้าฯ’ ส่งหนังสือเรียนถึงมือเด็กให้ทันเวลา

เมื่อวันที่ 14 มกราคม นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากที่องค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หารือ เพื่อแก้ไขปัญหา การแบ่งโควต้าจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนของสสวท. โดยมีจุดมุ่งหมายว่านักเรียนจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ว่าจะต้องได้รับหนังสือได้ทันเวลา โดยได้ข้อสรุปว่าให้องค์การค้าฯ ที่จากเดิมได้สัดส่วนพิมพ์ระดับประถมศึกษา ได้รับสัดส่วนการพิมพ์เพิ่มในส่วนของ ม.3 และม.6 ส่วนสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ ได้สัดส่วนการพิมพ์ระดับชั้น ม.1 ม.2 ม.4 และ ม.5 ถือเป็นการแบ่งสัดส่วนการพิมพ์เพื่อให้นักเรียนได้หนังสือเรียนได้ทันเวลา ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการองค์การค้าฯ ในวันที่ 14 มกราคมนี้ ที่ตนเป็นประธาน จะหารือในประเด็นดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดพิมพ์หนังสือเรียนที่ได้รับโควต้าเพิ่มมา

“นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เน้นย้ำชัดเจนว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดในการแก้ไขปัญหานี้ คือนักเรียนจะต้องได้รับหนังสือทัน และตรงเวลา ซึ่งการส่งหนังสือเรียนนั้น องค์การค้าฯและสำนักพิมพ์จุฬาฯ จะต้องรับผิดชอบจัดส่งหนังสือเรียนที่ตนได้สัดส่วนไป โดยองค์การค้าฯ ยืนยันว่าสามารถส่งทันเวลาแน่นอน ส่วนการพิมพ์หนังสือเรียนในปีการศึกษา 2564 จะให้องค์การค้าฯ จัดพิมพ์ทั้งหมดหรือไม่ ต้องดูผลจากการดำเนินงานครั้งนี้ก่อนว่าสามารถจัดพิมพ์และส่งหนังสือเรียนทันเวลาหรือไม่ ถ้าองค์การค้าฯ จัดส่งไม่ทัน ปีหน้าอาจจะไม่สามารถยกให้องค์การค้าฯ พิมพ์ได้ทั้งหมด แต่ถ้าองค์การค้าฯส่งหนังสือทัน นักเรียนได้รับหนังสือเรียนก่อนเปิดภาคเรียน ปีหน้าอาจจะให้องค์การค้าฯพิมพ์หนังสือเรียนทั้งหมด เพื่อให้องค์การค้าฯ สามารถเลี้ยงตัวเองต่อไปได้ ” นายประเสริฐ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากเดิมที่องค์การค้าฯ ต้องการสัดส่วนการพิมพ์ของสำนักพิมพ์จุฬาฯ ทั้งหมด เพื่อให้องค์กรมีสภาพคล่อง แต่การเจรจาครั้งนี้กลับได้เพิ่มในระดับชั้น ม.3 และ ม.6 เท่านั้น จะทำให้องค์การค้าฯมีเงิน พอจ่ายเงินเดือนพนักงานหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เชื่อว่าองค์การค้าฯ มีสภาพคล่องที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะจากเดิมถ้าไม่ได้พิมพ์ตำราเรียนเพิ่มจะประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานกว่า 1,000 คน ที่ตกเดือนละ 37 ล้านบาท อย่างน้อยเมื่อได้พิมพ์หนังสือเรียนของม.3 และ ม.6 เข้ามาช่วย ทำให้องค์กรอยู่ต่อไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีเงินพอจ่ายพนักงานครบทั้งปี ซึ่งเป็นปัญหาที่ ศธ.ต้องเข้าไปดูแลแก้ไขต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image