‘ณัฏฐพล’ จี้ครูไทยรู้ทันเทคโนโลยี ปรับการสอนเข้ากับยุคสมัย

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่หอประชุมคุรุสภา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา (ศธ.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “โลกก้าวไกล ครูไทยก้าวทัน สร้างสรรค์คุณภาพเด็กไทย” ในโอกาสการจัดงานวันครู ครั้งที่ 64 พ.ศ.2563 ตอนหนึ่งว่า ได้ให้แนวคิดโลกก้าวไกล ครูไทยก้าวทัน สร้างสรรค์คุณภาพเด็กไทย การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญที่ศธ.จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปทั่วโลก เห็นแล้วว่าการจะยืนอยู่ได้ในเวทีโลก เป็นประเทศที่มีความสำคัญไม่แพ้ประเทศอื่นต้องทำอะไรบ้าง ดังนั้นต้องกลับมาดูพื้นฐานเบื้องต้นว่า ประเทศไทยจะมีโอกาสเป็นประเทศที่น่าสนใจอันดับต้นๆ ของโลกได้หรือไม่ ถ้าเรามีความเชื่อมั่น ก็จะสามารถทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ได้

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า รัฐบาลพูดเสมอว่าเราต้องการให้ต่างชาติมาลงทุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวนมาก แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง แต่ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเรามีศักยภาพพอที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ก็ต้องมาศึกษาดูว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของประเทศ ซึ่งจะกลับมาเรื่องสำคัญที่สุดคือ การศึกษา เพราะจะช่วยขับเคลื่อนประเทศได้ และครูคือส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการศึกษา ไม่ใช่รัฐบาล หรือรัฐมนตรีว่าการ ศธ. แต่เป็นครูที่สอนและให้ความรู้นักเรียน เป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังอยากเป็นครูต่อ ดังนั้นต้องมาพูดคุยกันว่าแนวทางการเรียนการสอนอาจจะปรับไปบ้างตามยุคสมัย หลักสูตรต้องเปลี่ยน

“ผมไม่มีความสามารถเท่าครู และเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนครูที่ทำให้นักเรียนเป็นคนดี มุ่งมั่นตั้งใจได้ ที่ผ่านมาผมสัมผัสถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจของครูและพบว่า 90% มีจิตวิญญาณความเป็นครู ส่งต่อความรู้ให้นักเรียน ทำให้เด็กได้รับความรู้ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ผมเชื่อและสัมผัสได้ จึงเรียนนายกรัฐมนตรี ว่าหากมีโอกาสพัฒนาครู ให้ครูมีโอกาสมีเวลากับนักเรียนมากขึ้น ขอให้นายกรัฐมนตรีสนับสนุน และยืนยันว่านายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสนใจกับการพัฒนาการศึกษา ให้ความสนใจครู ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็ก ซึ่งให้ความสนใจมากที่สุด เพราะนายกรัฐมนตรีทราบดีว่าถ้าการศึกษาไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนในเวลาอันสั้นนี้ ประเทศจะไม่สามารถยืนในเวทีโลกได้” รัฐมนตรีว่าการศธ.กล่าว

Advertisement

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า เท่าที่ตนสัมผัสนักเรียนไทย พบว่านักเรียนไทยไม่ได้เก่งน้อยกว่าประเทศอื่น เหลือแต่ว่า ศธ.หรือครูจะใส่อะไรให้นักเรียน และที่ผ่านมายอมรับว่าครูไม่มีอาวุธครบถ้วนที่ให้ความรู้นักเรียน ดังนั้นแนวทางต่อไปที่ ศธ.จะเดินหน้าคือนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน ให้ครูเข้าใจว่าการเรียนการสอนที่ต้องเปลี่ยนไป เพราะเด็กปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เด็กเหล่านี้มีความเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้น มีช่องทางในการหาความรู้มากขึ้น ครูต้องเป็นศูนย์กลางทำให้เด็กหันมารับความรู้จากครู และเชื่อว่าความรู้ที่ครูให้นักเรียนจะเป็นเรื่องดี ไม่ว่าจะเป็นการมีคุณธรรม เป็นคนดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีพลังมากกว่าข้อมูลที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต

รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับการสอนของครู ปัจจุบันมีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสอนเป็นจำนวนมาก ครูต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ หาความรู้เพิ่มเติมเพื่อสอนนักเรียนให้ได้มากขึ้น ตนหวังว่าครูทุกคนจะเข้าใจแนวทางนี้ และร่วมกันพัฒนาการศึกษาต่อไป ส่วนข้อจำกัดที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือเรื่องของเวลา ศธ.จะต้องลดเวลาในส่วนอื่นๆ เช่น ต้องทำให้เรื่องวิทยฐานะจับต้องได้ ทำให้การจัดทำวิทยฐานะมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาผสมผสานเพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น ถ้าครูเข้าใจและเห็นแนวทางที่ ศธ.กำลังดำเนินการ จะทำให้การพัฒนาการศึกษาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

“จากที่ผมขอการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเรื่องพัฒนาครู นายกรัฐมนตรีได้พูดกับผมว่าให้เสนอแนวทางการพัฒนาครูมา แล้วจะพิจารณาต่อไป ซึ่ง ศธ.มีแผนพร้อมที่จะเสนอให้ ทั้งนี้การลงทุนด้านการศึกษาไม่สามารถเห็นผลทันที แต่ผมมั่นใจว่าหากเรามีแผนงาน และกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเข้าใจว่าศธ.กำลังจะพลิกการศึกษาไทย จึงขอให้ครูมั่นใจความตั้งใจที่จะช่วยในการพัฒนาการศึกษาของ ศธ. ผมพูดกับผู้บริหารกระทรวงฯ ว่าต้องกระจายงบประมาณให้ทั่วถึง หรือปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น ครูธุรการ ภารโรงที่เป็นปัญหาอยู่ ผมอยู่ระหว่างแก้ไข แต่จะพยายามแก้ไขให้ดีที่สุด อาจจะใช้เวลาภายใน 1-2 ปีจึงจะเห็นผล แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะอยู่นานหรือไม่ เพราะเฉลี่ยรัฐมนตรีว่าการศธ. อยู่ในตำแหน่งเพียง 11 เดือนเท่านั้น” นายณัฏฐพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image