‘วราวิช’ ยันปรับปรุงโครงสร้าง ไม่มีนโยบายย้ายคน ม็อบสลาย-แกนนำครูพอใจ

เมื่อวันที่ 17 มกราคมนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)กว่า 1,000 คน ประกอบด้วย กลุ่มศึกษานิเทศก์ (ศน.) บุคลากรกลุ่มตรวจสอบภายใน (ตสน.) และบุคลากรกลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา (ICT) นำโดยนายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) แต่งกายชุดดำเข้ายื่นหนังสือเพื่อคัดค้าน การถ่ายโอนกลุ่มบุคลากรดังกล่าว ไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ว่า เท่าที่ตนทราบเมื่อนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างศธ. ได้อธิบาย และให้ความชัดเจนกับทางกลุ่มที่เข้ามายื่นหนังสือคัดค้าน ทำให้ความกังวลของทางกลุ่มผ่อนลง เชื่อว่าเรื่องนี้จะคลี่คลายไปในทางที่ดี ส่วนข้อติดใจต่างๆ หากไม่จิตนาการว่าจะเกิดสิ่งนั้น สิ่งนี้ ก็คิดว่าทุกคนจะเข้าใจกันด้วยดี อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการสพท.หลายคนที่ยื่นหนังสือคัดค้านในวันนี้ หลายคนเป็นตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างศธ. อยู่แล้ว และทางคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างศธ. จะประชุมในวันที่ 24 มกราคมนี้ เพื่อหาแนวทางในการปรังปรุงโครงสร้างกระทรวงต่อไป ทั้งนี้หากใครมีข้อกังวล ข้อสงสัย ก็มีสิทธิในการแสดงออกได้

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ตนยังไม่เห็นข้อมูลหรือเอกสารที่สั่งย้าย ศน., ตสน. และ ICT จากสพฐ. ไปสังกัด สป.ศธ. และเอกสารเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องผ่านให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดู เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการทำงานของผู้บริหารกระทรวงที่ทำตามขั้นตอน ต้องตรวจสอบข้อมูลเพื่อหาแนวทางที่จะเดินหน้าต่อว่าจะมีผลกระทบต่องบประมาณ และบุคลากร อย่างไรบ้าง ทั้งนี้การปรับโครงสร้าง ศธ.ต้องรอให้คณะกรรมการปรังปรุงโครงสร้าง ศธ.เสนอมาให้ตนพิจารณาก่อน ที่มีคนบอกว่าตนเรื่องรู้การปรับโครงสร้างว่ามีอะไรบ้างนั้น ไม่เป็นความจริง

“หากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวง ต้องศึกษารายละเอียดขั้นตอนต่างๆ รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนที่ถามว่าจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับแกนนำหรือไม่ ยินดี ไม่มีปัญหา หากทางแกนนำจะเข้ามาพูดคุย แต่ผมไม่สามารถให้คำตอบได้ ผมไม่ได้พูดเพื่อจะเบี่ยงเบนประเด็น แต่ผมไม่สามารถตอบในสิ่งที่ยังไม่เห็น และไม่สามารถสรุปได้ เพราะถ้าผมฟันธงไปว่าโครงสร้างจะเป็นแบบนี้ ก็ไม่เหมาะสม เพราะยังไม่ได้หารือพูดคุยกับผู้ที่มีผลกระทบในทุกภาคส่วน” นายณัฏฐพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีคนเข้ามาประท้วงเรื่อยๆ การปรับโครงสร้างศธ.จะล่าช้าหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนมองว่าไม่ล่าช้า แต่การพัฒนาการศึกษาไทยจะล่าช้า เพราะครูไม่อยู่กับนักเรียน เป็นเรื่องที่ตนกังวลมากกว่า เพราะการดำเนินงานต่างๆ มีกำหนดเวลาไว้แล้ว ตนอยากให้ครูใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนมากกว่า ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่าโครงสร้างการศึกษาไทย ในส่วนของการบริหารงานไม่ได้เป็นเรื่องหลักในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ โครงสร้างที่มีอยู่อาจมีความซับซ้อน ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า แต่ถ้าคำตอบออกมาว่าโครงสร้างปัจจุบันไม่มีความซับซ้อน มีการใช้จ่ายงบประมาณที่คุ้มค่า ก็จะทิ้งไว้เช่นเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

Advertisement

นายวราวิช กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนรัฐมนตรีว่าการศธ. รับเรื่องและพูดคุยกับบุคลากรทางการศึกษา หลังพูดคุย เกิดความเข้าใจชัดเจน ยืนยันว่าคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างศธ. ไม่มีแนวทางโอนย้ายบุคลากรเขตพื้นที่ไปสังกัดศธจ. เพียงแต่ต้องการให้ทำงานร่วมกัน โดยวันนี้เราต้องพัฒนาการศึกษาชาติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการศธ. มีนโยบายให้พัฒนาบุคลากรให้เก่งขึ้น เพื่อเยาวชนจะได้รับการศึกษาจากบุคลากรที่เก่ง ไม่ได้หมายถึงครูเท่านั้น แต่หมายถึงบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ที่มีกว่า 5 แสนคน เพราะฉะนั้นพอพูดถึงแนวทางนี้ ตนก็มีแนวทางพัฒนา อย่างเช่น ศึกษานิเทศก์ ที่มีอยู่กว่าพันคน ยังไม่มีหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ชัดเจน มีแต่สมรรถนะ ซึ่งขณะนี้ตนผลักดัน และตั้งคณะกรรมการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้ง คุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อให้ดูรายละเอียดของแต่ละสมรรถนะ ออกมาเป็นวิธีการพัฒนา

Advertisement

“แนวทางที่ผมบอกมา คือการปฏิรูปโครงสร้างศธ. มีแนวทางแบบนี้ แต่ที่เข้าใจผิดคือ จะมีการโอนย้ายบุคลากรไปรวมกับศธจ. ผมยืนยันกับทุกคนว่า ผมไม่มีแนวทางนั้น และในที่ประชุมปฏิรูปโครงสร้างฯ ก็ไม่เคยมีมตินั้น แต่ให้ทำงานร่วมกัน ถามว่า ทำไมต้องทำงานร่วมกัน เพราะบริบทของศธ. ดูภาพรวมประเทศ ส่วนบริบทการศึกษาของจังหวัด ดูการศึกษาจังหวัด เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องติดขัด หากต้องประชุมพร้อมกันเดือนละครั้ง และผมจะมีคณะกรรมการทุกวิชาชีพอยู่ที่ศธ. ส่วนหนังสือที่เป็นสาเหตุให้บุคลากรทางการศึกษาแต่งดำมาประท้วงนั้น ผมยังไม่ขอตอบ เพราะตัวผมเองก็เพิ่งทราบรายละเอียดวันนี้ และผมไม่ได้เป็นคนออกหนังสือ ขอตอบในส่วนที่ผมบอกได้ และยืนยันว่าไม่ได้มีแนวทางดังกล่าว” นายวราวิช กล่าว

นายวราวิช กล่าวต่อว่า เหตุผลหนึ่งของการปรับโครงสร้างศธ. ครั้งนี้เพราะการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างสพท. และศธจ. ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่รัฐมนตรีว่าการศธ. จะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งสพฐ. เสนอมาแล้วว่า อะไรที่ซ้ำซ้อนกันบ้าง และจะแก้ปัญหาอย่างไร อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางแก้ไข แต่ไม่มีการย้ายคน ยืนยันว่าไม่มี ไม่มีนโยบาย ไม่มีแนวทาง ไม่มีความคิดแบบนั้น ตรงนี้ชัดเจน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทางกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นสิทธิ สามารถดำเนินการได้ แต่ตนได้ย้ำไปว่า ขอให้นำข้อสรุปที่ได้จากการพูดคุยในวันนี้ แจ้งให้นายกฯ ได้รับทราบด้วย

อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ.

ด้านนายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.)เปิดเผยภายหลัง หารือกับนายวราวิช ว่า ส่วนตัวรู้สึกพอใจกับคำตอบของนายวราวิช แต่ก็ยังไม่วางใจ เพราะรัฐมนตรีว่าการศธ. ไม่ได้มารับหนังสือด้วยตัวเอง ทำให้กลุ่มผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ อดคิดไม่ได้ว่า รัฐมนตรีว่าการศธ. ไม่ให้ค่า ไม่ให้ราคาบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น ในการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ วันที่ 29 มกราคมนี้ ตนจะเดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการศธ.อีกครั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจ

วราวิช กำภู ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image