อพท. เอาจริง! ดัน ‘สุพรรณฯ’ เมืองดนตรีส่ง ‘ยูเนสโก’ เชิญ 18 ศิลปินอาเซียนอบรมครู (คลิป)

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุพรรณบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี องค์กรบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี อบจ.สุพรรณบุรี สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และภาคีเครือข่าย จัด ‘โครงการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติการวัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์อาเซียนในภูมิภาค พ.ศ.2563’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศภายในงานมีผู้เข้าร่วมอย่างคึกคักกว่า 200 ราย ทั้งคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆในจังหวัดสุพรรณบุรี และนักเรียน นักศึกษาด้านดนตรี-นาฏศิลป์ไทย

นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดสุพรรณบุรีมีความโดดเด่นทางด้านดนตรี มีนักร้อง ศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมาย จึงมีการเสนอตัวเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีขององค์การยูเนสโก้ เมื่อ พ.ศ.2562 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากในขณะนั้นยังขาดองค์ประกอบอีกหลายด้าน ซึ่งนอกเหนือจากบรรดาศิลปินแล้ว จิตวิญญาณด้านดนตรีของคนในจังหวัดนับว่ามีส่วนสำคัญ ชีวิตประจำวันต้องเกี่ยวพันด้านศิลปะการดนตรี การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะช่วยสร้างการเรียนรู้ให้บรรดาครูอาจารย์ซึ่งจะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และจิตวิญญาณต่อไป

“ต้องขอฝากครูอาจารย์ว่าจะทำอย่างไรในการกระตุ้นดนตรีในหัวใจของคนสุพรรณบุรีให้คนทั้งโลกได้รับรู้ ปัจจุบันการกีฬา การท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดสุพรรณบุรีของเรามีเมืองโบราณ ช่วงเสาร์อาทิตย์นักท่องเที่ยวจากจังหวัดต่างๆเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก” นายนิมิตกล่าว

Advertisement

นายทวีพงศ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า โครงการอบรมครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความรับรู้ให้แก่ภาคีเครือข่ายในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสนับสนุนเป้าหมานของไทยในการผลักดันยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีขององค์การยูเนสโก

“เมื่อจังหวัดสุพรรณบุรีได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แห่งดนตรีแล้ว จะเกิดการไหลเวียนของการเดินทางจากประเทศสมาชิกแบะภาคีเครือข่ายจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก มาจัดกิจกรรม สัมมนา ศึกษาดูงาน และทำกิจกรรมต่างๆ โดยประเทศไทยและจังหวัดสุพรรณบุรีจะถูกบรรจุในปฏิทินกิจกรรมขององค์การยูเนสโก้ว่าในแต่ละปีมีกิจกรรมอะไรบ้าง” นายทวีพงษ์กล่าว

จากนั้นเป็นการบรรยายหัวข้อ ‘วัฒนธรรมดนตรี-นาฏศิลป์อาเซียนสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี’ โดย นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก

Advertisement

 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีการเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงในอาเซียนเพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการแก่คณะครูในจังหวัดสุพรรณบุรีและผู้สนใจ โดยมีเหล่าศิลปินจากประเทศต่างๆเข้าร่วม 18 ราย อาทิ Sanankavie Keo นักดนตรีชั้นครูชาวกัมพูชา ผู้รื้อฟื้นพิณเขมร, Patricia Brillantes Silvestre คณบดีคณะดนตรีวิทยา วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์, คำสวน วงทองคำ ผู้บุกเบิกการสร้างวงดนตรีที่ผลิตด้วยไม้ไผ่ทั้งวง และศิลปินคนแรกของสปป.ลาวที่ริเริ่มวงโปงลานแบบอีสานในประเทศลาว, Dr. Ida Ayu Wimba Ruspawati อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ สถาบัน Seni Indonesia บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

Khairunnisa Bazilahn Bte Haji Ismail ศิลปินที่มีส่วนร่วมในการแสดงเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติสุลต่านบรูไน กล่าวว่า ในวันนี้ตนเตรียมนาฏศิลป์ ‘รำพัด’ มาถ่ายทอด โดยมีท่วงท่าที่อ่อนช้อย บอกเล่าเรื่องราวของความเป็น ‘ผู้หญิง’ ในสังคมบรูไน สำหรับการอนุรักษ์ดนตรีนาฏศิลป์พื้นเมืองในบรูไน ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมโดยรัฐบาล เนื่องจากยังคงใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ที่สำคัญ นอกจากนี้ในภาคประชาชน ดนตรีพื้นเมืองก็ยังมีบทบาทในการเฉลิมฉลอง เช่น วันคล้ายวันเกิด ส่วนคนรุ่นใหม่ของบรูไนก็เปิดใจรับชมรับฟังมากขึ้น ศิลปินบรูไนรุ่นหลังมีการผสมผสานมรดกวัฒนธรรมแบบเก่าและการแสดงร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี

Sam Sathya รองคณบดี คณะศิลปะการออกแบบท่านาฏศิลป์ มหาวิทยาลัย Rayal University of Fine Atrs ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ตนในฐานะเป็นผู้สืบทอดนาฏศิลป์โบราณ คิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้ทั้ง 2 สิ่งนี้ไปด้วยกันได้ อย่างไรก็ตาม เราต้องรู้จักจิตวิญญาณของตัวเองก่อนที่จะไปรู้จักคนอื่น ต้องศึกษาตนเองอย่างลึกซึ้ง ต้องรู้ว่าเราคือใคร ชนชาติใด แล้วจึงเรียนรู้วัฒนธรรมของอาเซียน

“ต้องปลูกฝังเด็กให้รู้จักการอนุรักษ์ รักษาศิลปวัฒนธรรม การร่ายรำแบบโบราณไว้ให้ได้ เมื่อปี 2014 เคยไปเรียนการเต้นรำแบบร่วมสมัยที่สุราบายา อินโดนีเชีย มีคนมาสัมภาษณ์ว่า คุณเป็นนางระบำโบราณ จะมาเรียนได้อย่างไร คำตอบคือดิฉันรู้เรื่องระบำโบราณแบบกัมพูชาหมดแล้ว จึงอยากรู้เพียงว่าระบำยุคใหม่เป็นอย่างไร จึงสนใจที่จะศึกษา แต่ไม่ว่าอย่างไร จิตใจของดิฉันคือระบำโบราณ” Sam Sathya กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image