ชง ก.พ.อ.ปลดล็อกขอ ‘ศ.-รศ.’ ปรับเกณฑ์ ‘ง่าย-รูปธรรม’ มากขึ้น

ชง ก.พ.อ.ปลดล็อกขอ ‘ศ.-รศ.’ ปรับเกณฑ์ ‘ง่าย-รูปธรรม’ มากขึ้น

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะทำงานด้านตำแหน่งวิชาการและความก้าวหน้าของนักวิจัย ภายใต้คณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว. เน้นย้ำให้คณะทำงานปลดล็อกและปฏิรูปอุดมศึกษาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการขอตำแหน่งทางวิชาการของนักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัย ให้เป็นสากลเพื่อให้อาจารย์สามารถทำงานตอบโจทย์ประเทศมากขึ้น ซึ่งผลงานตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา มีความคืบหน้า ดังนี้ ปรับเกณฑ์การยื่นขอกำหนดตำแหน่งวิชาการ โดยคำนึงหลักการด้านคุณภาพทางวิชาการระดับสากล ผลงานที่เป็นรูปธรรม มีประโยชน์ในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ ความร่วมมือและการโยกย้ายกำลังคนทางวิชาการ รวมถึงความชัดเจนของการตัดสิน โดยได้ดำเนินการ คือ 1.ยกเลิกเปอร์เซ็นต์สัดส่วนผลงาน พร้อมทั้งปรับแบบแสดงหลักฐานการมีส่วนร่วมในผลงาน ที่เดิมเคยใช้พิจารณาสัดส่วนผลงานว่าจะต้องเป็นเจ้าของผลงานเพียงผู้เดียว หรือมีสัดส่วนผลงานมากที่สุดถึงจะขอตำแหน่งทางวิชาการได้ เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไป นักวิจัยและอาจารย์จะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น หากจะให้ยึดว่างานวิจัยชิ้นนั้นเป็นงานของใครคนหนึ่ง เพียงคนเดียว ไม่เหมาะสม คณะทำงานจึงยกเลิกเรื่องนี้ 2.กำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมให้ผู้ขอสามารถเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรณีขอกำหนดตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ สาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ เพื่อย่นเวลาขอตำแหน่งทางวิชาการ และไม่ต้องใช้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก 3.ปรับลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการแต่ละประเภท จากเดิมระดับดี ดีมาก และดีเด่น ซึ่งจะเป็นนามธรรมมากเกินไป เปลี่ยนเป็นรูปธรรมมากและจับต้องได้มากขึ้น ประกอบด้วยระดับ B, B+, A และ A+ พร้อมทั้งปรับคำอธิบายของลักษณะคุณภาพผลงานแต่ละประเภทให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้คำนึงถึงคุณภาพระดับนานาชาติ

ศ.ดร.ศันสนีย์ กล่าวต่อว่า 4.ปรับเกณฑ์การพิจารณาให้คำนึงถึงคุณสมบัติทางวิชาการของผู้ขอตำแหน่งมากขึ้น จากเดิมที่ดูแต่ผลงานเพียงอย่างเดียว ได้แก่ ความเป็นผู้นำทางวิชาการระดับนานาชาติ หัวหน้าโครงการวิจัยโครงการที่สำคัญ ๆ การเป็นผู้ประพันธ์บรรณกิจ 5.การเพิ่มรูปแบบผลงานด้านการสอนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 6.จัดทำคู่มือแนะนำการบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลในระบบอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิจัย ได้แก่ ร่างประกาศ Adjunct Professorship ซึ่งเป็นการนำบุคคลภายนอกจากต่างสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ชุมชน มาเป็นอาจารย์พิเศษได้ และร่างประกาศการเทียบโอนตำแหน่งวิชาการ รวมทั้งการจัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับสืบค้นผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ และมีการจัดการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการให้ทันสมัย

“คณะทำงานเตรียมเสนอปลดล็อกเกณฑ์ต่างๆ ให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) พิจารณาต่อไป ทั้งนี้คณะทำงานได้เตรียมตัวเกือบเสร็จทุกขั้นตอนแล้ว และมหาวิทยาลัยต้องปรับปรุงวิธีการขอตำแหน่งวิชาการ ให้เอื้อต่ออาจารย์และนักวิจัย และอยู่ในระยะเวลาที่สั้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมด้วย”ศ.ดร.ศันสนีย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image