‘สุวิทย์’ เผย น.ศ.จีนเรียนมหา’ลัยไทยกว่าหมื่น สั่ง ม.ดังแจงข้อเท็จจริงหลังถูกร้องเปิดให้ นทท.จีนเข้าพักหอ น.ศ.

เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว.เปิดเผยภายหลังการประชุม อว.ระดมองค์ความรู้ป้องกัน และรับมือการระบาดของไวรัสโคโรนาแ ละมาตรการดูแลนักศึกษา โดยมีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ จากกรมควบคุมโรค และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม ว่า ไม่อยากให้ตื่นตระหนก อยากให้ใช้ความรู้ความเข้าใจ คิดว่าองค์ความรู้ที่มีในมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์มีเพียงพอ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าไวรัส คือไวรัล ที่แชร์ต่อๆ กันไป อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า มีสถาบันอุดมศึกษาไทยที่มีนักศึกษาสัญชาติจีนศึกษาอยู่ 87 สถาบัน แบ่งเป็น สถาบันอุดมศึกษารัฐ 52 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 35 แห่ง มีนักศึกษาจีน 11,738 คน แบ่งเป็น สถาบันอุดมศึกษารัฐ 3,192 คน และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 8,541 คน และสถาบันอุดมศึกษานอกสังกัด 5 คน ส่วนสถาบันอุดมศึกษาที่มีนักศึกษาจีนศึกษาอยู่มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2,884 คน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 978 คน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 756 คน

“ขณะที่จำนวนนักศึกษไทยที่ไปเรียนอยู่ในจีน ในแต่ละมณฑล ที่มีข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้ ยูนนาน 828 คน กุ้ยโจว 134 คน หูหนาน 208 คน สำหรับมณฑลอื่นนั้น กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ขณะที่มีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ 58 คน” นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมีข่าวว่านักศึกษาล่ารายชื่อร้องเรียนสถาบันอุดมศึกษาย่านบางบ่อ จ.สมุทรปราการ เปิดให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาท่องเที่ยวถ่ายรูป รวมถึง เปิดหอพักของนักศึกษาเป็นโรงแรม หรือห้องพักรายวัน จนนักศึกษาวิตกว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนานั้น ขณะนี้รัฐบาลยังควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่เรื่องนี้ถือว่าน่าห่วง เบื้องต้นได้ให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ชี้แจ้งข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน หากพบว่าผิดวัตถุประสงค์การจัดตั้ง จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

Advertisement

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เชื่อว่าขีดความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และองค์ความรู้ที่มีในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะรองรับสิ่งเหล่านี้ได้ ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจในเชิงวิทยาศาสตร์ และอย่าตื่นตระหนกเกินไป อว.ยินดีให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ซึ่ง สธ.ได้ตั้งวอร์รูม เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวแล้ว จากนี้ไปจะทำวิจัยเชิงรุก เพื่อต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ด้วย” นายสุวิทย์กล่าว

นพ.ยง ภู่วรวรรณ เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสที่ อว.กับ สธ.จับมือกันพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทำวิจัยหาองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ และโรคอื่นๆ เพราะ อว.มีอาจารย์ นักวิจัย ในคณะต่างๆ ที่สามารถนำศาสตร์ต่างๆ มาร่วมมือกัน เช่น นักคณิตศาสตร์ ที่สร้างแบบจำลองการระบาดของโรค นักคอมพิวเตอร์ ที่นำข้อมูลจากทั่วโลกมาวิเคราะห์ นักเคมีและนักชีววิทยา ช่วยสร้างแบบจำลองโครงสร้างพันธุกรรม เพื่อหาสารป้องกันการแบ่งตัว ซึ่งจะได้ความรู้ใหม่ๆ ทั้งนี้ โคโรนาไวรัสตัวนี้ไม่ได้ร้ายแรงแบบซาร์ส หรือเมอร์ส เป็นไวรัสที่มีความรุนแรงต่ำ ทำให้หยุดการระบาดได้ยาก ทั้งนี้ การระบาดใหญ่ ถ้าข้ามประเทศ หรือข้ามทวีป ถือเป็นการระบาดในวงกว้าง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ระบาดออกนอกจีน ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงยังไม่ประกาศยกเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพราะยังเป็นการระบาดแค่ในจีน ส่วนที่พบผู้ป่วยในไทย เป็นชาวจีนนำเข้ามา มีคนไทยคนเดียวที่ติดเชื้อจากการเดินทางไปอู่ฮั่น และยังไม่พบการระบาดจากคนสู่คน

Advertisement

“ส่วนตัวเห็นว่าเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์นี้ หากเกิดการระบาดในไทย โรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชน ควรเตรียมเตียงคนไข้ไว้รองรับให้เพียงพอ ซึ่งอาจต้องพิจารณาเตรียมโรงพยาบาลพิเศษ หรือโรงพยาบาลสนามแบบจีนหรือไม่ เพราะหากเตียงคนไข้ไม่พอ จะเกิดภาวะตื่นตระหนกของประชาชน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่เป็นช่วงที่ไวรัสแพร่กระจายได้ดี ขณะเดียวกันขณะนี้มีการเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากมายจนประชาชนสับสน ควรมีหน่วยงาน หรือองค์กร ที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และแก้ไขข่าวที่ไม่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว ด้วยข้อความสั้น กระชับ เข้าใจง่าย เผยแพร่รวดเร็ว” นพ.ยงกล่าว

นพ.ยงกล่าวต่อว่า กรณีที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาตราการให้นักศึกษาจีนที่เดินทางกลับจีน ให้พำนักต่ออีก 2 สัปดาห์ ก่อนเดินทางกลับมาเรียนต่อในไทยนั้น เมื่อนักศึกษาจีนกลับมาแล้ว มหาวิทยาลัยควรให้รายงานตัว และต้องกักตัวต่ออีก 2 สัปดาห์ เพื่อเฝ้าระวัง ทั้งนี้ สิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ และสอนเด็กๆ ให้ทำเป็นนิสัยคือ ต้องล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากใช้มือปิดปากจมูกเวลาไอ หรือจาม ล้างมือก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก เป็นต้น

นพ.สมชาย แสงกิจพร รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.กล่าวว่า นักศึกษาไทยที่เดินทางกลับจากจีน มีอาการ หรือไม่มีอาการสามารถเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน สธ.พร้อมตรวจคัดกรอง ซึ่งที่ผ่านมามีนักศึกษาขอตรวจ พบว่ามีผลเป็นลบทุกราย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image