‘สุวิทย์’ ถก ร.ร.แพทย์-หมอ-นักวิจัย สู้ไวรัสโคโรนา เข้มมาตรการดูแล น.ศ.ต่างชาติเรียนไทย-น.ศ.ไทยที่เรียนในจีน

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการ อว.เปิดเผยภายหลังการประชุมการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยมีคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์จากทั่วประเทศ กว่า 20 หน่วยงาน เข้าร่วม ว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ภายใต้ อว.ทั้งหมด โดยมีคณะแพทยศาสตร์ 23 แห่ง โรงพยาบาลมีจำนวนเตียงกว่า 14,475 เตียง และมีแพทย์ และพยาบาลที่มีประสบการณ์มากกว่า 23,758 คน เบื้องต้นทุกแห่งมีความพร้อมในการบริการจัดการ เฝ้าระวัง คัดกรองไวรัสโคโรนา ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย เครื่องมืออุปกรณ์ ห้องคัดแยกในการดูแลผู้ป่วย และรับมือกับโรคดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการทำงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนด้านการแพทย์ สาธารณสุข และสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายเรื่องก้าวหน้า และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม แต่ตอนนี้ได้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนการวิจัยทางคลินิกระดับประเทศ จะเป็นการทำงานร่วมมือกันของคณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์ด้านการแพทย์ การวิจัย อันนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการด้านการวิจัยและวิชาการ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยจะดำเนินการใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องโดยเครือข่ายนักวิจัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ การจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการ เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้ง การขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยเชิงรุกเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาของประเทศ โดย วช.ได้สนับสนุนทุนวิจัยพิเศษ และเร่งด่วน ซึ่งการบูรณาการการทำงานอย่างเร่งด่วนของหน่วยงานทั้งในกระทรวง อว.และนอกกระทรวง จะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าไทยพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกกรณีได้อย่างแน่นอน

นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ วช.กล่าวว่า บทบาท อว.ในการเตรียมความพร้อมรองรับการติดเชื้อไวรัสโคโรนามี 3 ประเด็น คือ 1.การดูแลนักศึกษา ซึ่ง อว.ได้ประกาศมาตรการให้ทุกมหาวิทยาลัยดูแลนักศึกษาต่างชาติที่เรียนในไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจีน และนักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ในจีน โดยต้องดูแลสุขภาพของนักศึกษา เช็คว่านักศึกษาเดินทางกลับมาวันไหน อย่างไร มีนักศึกษากี่คน ชื่ออะไร และเดินทางมาจากประเทศไหน เมื่อนักศึกษาจีน หรือไทย ที่กลับมาจากจีน ต้องดำเนินการตามนโยบายของ สธ.ในการเฝ้าระวัง คัดกรอง ส่วนนักศึกษาไทยที่อยู่จีน ได้ติดต่อสำนักงานผู้ช่วยฑูตในจีน ดูแลนักศึกษาไทย 2.การดำเนินการวิชาการ และการบริหาร ได้ซักซ้อมความเข้าใจ พบว่า กลุ่มโรงเรียนแพทย์มีความพร้อมทั้งบุคลากร การวินิจฉัยต่างๆ และเครื่องมืออุปกรณ์ และเตรียมการรับมือป้องกันไวรัสโคโรนาอย่างดี และ 3.ได้สนับสนุนองค์ความรู้ และงานวิจัยโดยร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ใน 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.การศึกษาตัวเชื้อ และลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม 2.การศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อความเข้าใจของกรแพร่กระจายของ 3.วิธีการวินิจฉัย และชุดตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ รวดเร็ว 4.การวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อความเข้าใจด้านระบาดวิทยาระดับโมเลกุล และการติดตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้อ และ 5.การพัฒนายา และวัคซีน ที่ใช้ในการควบคุม และป้องกัน

Advertisement

นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ทางคณะ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้เฝ้าระวัง และคัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยง รวมถึง เตรียมบุคลากร พื้นที่แยกสำหรับการเฝ้าระวัง และคัดกรองผู้ป่วยโรคไวรัสโคโรนาอย่างชัดเจน สิ่งที่กังวลตอนนี้คือการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เนื่องจากโรงพยาบาลต้องสั่งซื้อหน้ากากอนามัยจากจีนอยู่แล้ว โดยได้สั่งหน้ากากอนามัยจากจีน 5 หมื่นชิ้น แต่ทางจีนไม่สามารถส่งให้ได้ ดังนั้น หากมีการระบาดเพิ่มมากขึ้น โรงพยาบาลต่างจังหวัดจะประสบปัญหาการขาดแคลนหน้ากาก จึงอยากให้ อว.ช่วยดูแลปัญหานี้

นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีสำนักแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือ ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาจีน 45 คน ระดับปริญญาโท และเอก โดยในช่วงตรุษจีน มทส.ขอความร่วมมือไม่ให้นักศึกษากลับจีน ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ปฎิบัติตาม แต่ขอคำตอบจากมหาวิทยาลัยว่าเมื่อไหร่จะได้กลับบ้านที่จีน หรือนักศึกษาจีนที่กลับบ้านไป จะได้กลับมาเรียนเมื่อใด ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่สามารถให้คำตอบได้ อยากขอนโยบายชัดเจนจาก อว.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่ามหาวิทยาลัยจะให้คำตอบได้อย่างไร เพราะหากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นักศึกษา รวมถึง ความร่วมมือด้านงานวิจัย และอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยในจีน ก็ไม่สามารถทำได้

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
 

Advertisement

เพิ่มเพื่อน
พญ.จิตรลดา อุทัยพิบูลย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า มฟล.เป็นพื้นที่ที่มีเครื่องบินจากจีนมาลง และมีนักศึกษาจีนจำนวนมาก ซึ่งมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ได้เฝ้าระวัง และคัดกรองนักศึกษาจีน เริ่มตั้งแต่นำรายชื่อนักศึกษาจีนทั้งหมดมาดูว่าใครกลับมาจากจีนวันไหน และตั้งทีมคัดกรองทุกวัน โชคดีที่เบื้องต้นนักศึกษามาจากเมืองอื่นๆ ของจีนที่ไม่ใช่เมืองอู่ฮั่น แต่เมื่อจีนประกาศว่าทุกเมืองอยู่ภาวะความเสี่ยง ขณะเดียวกันพื้นที่ชายแดน จ.เชียงราย มีชาวจีนเดินทางเข้าออกทุกวัน ดังนั้น เมื่อต้องเฝ้าระวัง คัดกรองมากขึ้นทุกวัน คาดว่าทรัพยากรบุคลากรอาจไม่พอ จึงอยากฝากให้หาแนวทางในแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมด้วย

นายศิริศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ทางศูนย์ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) จัดทำหน้ากากอนามัยป้องกันไรฝุ่น และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งเป็นหน้ากากอนามัยที่ซักได้ และป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เบื้องต้นอยู่ในขั้นการทดลอง คาดว่าจะผลิต และใช้งานได้จริงได้ในเร็วๆ นี้ ดังนั้น การผลิตหน้ากากดังกล่าว เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาหากมีการขาดแคลนหน้ากากอนามัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image