‘อดิศร’ ค้านคืนอำนาจ ‘ตั้ง-ย้าย’ สพท.หวั่นเจอปัญหาเดิมอีก จี้แยกโครงสร้างบริหารบุคคลต่างหาก

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) เปิดเผยกรณีที่ประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ข้อสรุปการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.โดยในส่วนของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่งได้ข้อสรุปในเรื่องการแบ่งอำนาจหน้าที่ โดย ศธจ.ดูภาพรวมการศึกษาทั้งจังหวัด ส่วนอำนาจในการดูแลบุคลากร ทั้งแต่งตั้ง โยกย้าย และการลงโทษทางวินัย ให้เป็นหน้าที่ของ สพท.ซึ่งเป็นต้นสังกัด ว่า การคืนอำนาจให้เขตพื้นที่ฯ มีผลดีคือ การแต่งตั้งโยกย้ายจะรวดเร็วขึ้น ขั้นตอนต่างๆ สั้นลง ความสิ้นเปลืองจะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ต้องเดินทางจาก สพท.มาให้ ศธจ.ลงนามแต่งตั้ง ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวล เพราะการคืนอำนาจให้เขตพื้นที่ฯ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะช่วงที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้เตรียมคืนอำนาจแต่งตั้ง โยกย้ายให้เขตพื้นที่ฯ พร้อมเสนอแก้ไขคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา แต่เมื่อเสนอเรื่องให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล ศธ.เพื่อเสนอ ครม.แต่นายวิษณุไม่เห็นด้วย และเรื่องตกไป จึงเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

“ขอบคุณนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่เข้าใจปัญหาแท้จริง ถ้าทำตามข้อสรุปนี้ การศึกษาในส่วนภูมิภาคจะเกิดการปฏิรูป และเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ และถ้ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เสนอเรื่องนี้ให้ นายวิษณุเพื่อนำเข้า ครม.หากนายวิษณุยังยืนยันตามเดิม จะเป็นปัญหาขึ้นอีก องค์กรครูจึงอยากให้รองนายกฯ รับฟังความคิดเห็นของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาต่อ ขณะนี้องค์กรครูจับตาเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะถูกดองอีก แต่ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก อยู่ระหว่างหารือว่าจะทำอย่างไรต่อไป” นายธนชน กล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
 

เพิ่มเพื่อน
ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวว่า ยังไม่เห็นโครงสร้างการบริหารบุคคลจากคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ที่ชัดเจน ทั้งนี้ อำนาจการบริหารงานบุคคลตั้งแต่สอบบรรจุรับคนเข้า ที่เดิมมีปัญหามากที่สุดนั้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กำหนดให้เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้รับผิดชอบ เดิมเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ต่อมามีคำสั่ง คสช.แก้ไข มอบอำนาจให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องนี้แม้คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างจะให้ ศธจ.ดูแลงานภาพรวมการศึกษาทั้งจังหวัด และให้อำนาจหน้าที่การแต่งตั้ง โยกย้ายกลับไปที่ สพท.แต่ยังคงต้องทำตามมติของ กศจ.เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถให้อำนาจผู้อำนวยการ สพท.ทำได้ทันที เนื่องจากการบริหารงานทุกอย่างต้องทำเป็นองค์คณะ ตนมองว่าอำนาจการบริหารงานบุคคล ควรถูกแยกไว้อีกส่วนหนึ่ง เพราะถ้าอยู่กับเขตพื้นที่ฯ ปัญหายังมีอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น ควรกำหนดโครงสร้างใหม่ดีกว่า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image