จี้สังคยานา ‘กก.สถานศึกษา’ ใหม่ ปมหน้าที่ไม่ชัด-ยุ่งงานบริหาร-ตั้งตัวเป็นเจ้าถิ่น

นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในฐานะเลขาธิการสมาคมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องการดำเนินงานของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกรรมการสถานศึกษาฯ ในอนาคต เนื่องจากปีนี้กรรมการสถานศึกษาฯ เกือบทั่วประเทศจะหมดวาระ จึงต้องเตรียมพร้อมในการดำเนินการสรรหาใหม่ ซึ่งที่ประชุมสรุปปัญหาแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ตั้งแต่มีกฏกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2546 เป็นต้นมา ศธ.ไม่มีมาตรการกำกับ ส่งเสริม สนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของคณะกรรมการสถานศึกษาฯ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการสถานศึกษาฯ เป็นองค์คณะบุคคลที่เกิดขึ้นตามกฎหมายการศึกษาหลายฉบับ แต่ถูกละเลย นับตั้งแต่การสรรหา การเลือก วาระการดำรงตำแหน่ง การพัฒนา การประเมินติดตามผลปฏิบัติงาน การจัดสรรงบประมาณ เบี้ยประชุม การเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางการศึกษา จึงทำให้กรรมการสถานศึกษาฯ ขาดความเข้มแข็ง และด้อยคุณภาพ

นายวิสิทธิ์กล่าวต่อว่า 2.โรงเรียนทุกขนาดถูกกำหนดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาฯ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนับหมื่นโรง ถูกกำหนดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาฯ จำนวน 9 คน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่จะสรรหาคณะกรรมการสถานศึกษาฯ ให้ครบตามจำนวน ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง มีคนแย่งกันเป็นกรรมการ และ 3.ความไม่ชัดเจนเรื่องบทบาท อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการสถานศึกษาฯ และอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาฯ ที่ต้องปฏิบัติงานร่วมกัน เกิดความไม่เข้าใจกัน ขัดแย้งกัน บางแห่งคณะกรรมการสถานศึกษาฯ ก้าวก่ายการบริหารงานมากไป บางแห่งละเลย แทบไม่มีการประชุม บางแห่งเปรียบเสมือนตรายาง ทำให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลน้อย ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
 

เพิ่มเพื่อน
นายวิสิทธิ์กล่าวอีกว่า สรุปช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสถานศึกษาฯ ด้อยคุณภาพ ขาดความเข้มแข็ง เพราะรัฐละเลย ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรจะเป็น แทบทุกเขตพื้นที่การศึกษาจึงขาดการดำเนินการงานให้คณะกรรมการสถานศึกษาฯ เข้มแข็ง ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้โรงเรียนมีคณะกรรมการสถานศึกษาฯ ร่วมพัฒนาสถานศึกษา แต่ถ้ารัฐยังไม่ให้ความสำคัญ ขาดระบบการบริหารที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสถานศึกษาฯ ก็คงเกิดปัญหาเช่นเดิม โดยทางสมาคมฯ ได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้ามาช่วยกำหนดมาตรการ ซึ่ง สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้แล้ว

Advertisement

“ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าภาครัฐไม่มีกฎระเบียบเข้ามาดูแลคณะกรรมการสถานศึกษาฯ จึงมักเกิดปัญหา บางแห่งเล่นพรรคเล่นพวก พออยู่มานานก็เป็นเจ้าถิ่น ผู้อำนวยการโรงเรียนเหมือนคนแปลกหน้า หากไม่พอใจ ก็ขับไล่ ขณะที่โรงเรียนเล็กหากรรมการไม่ได้ แต่โรงเรียนใหญ่แย่งกันเป็น ดังนั้น ต้องสังคายนาให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันกัน ถือโอกาสที่คณะกรรมการสถานศึกษาฯ หลายแห่งจะครบวาระ กำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาที่เป็นธรรม ที่สำคัญต้องมีกระบวนการอบรม พัฒนา และติดตามผลการดำเนินงาน หากเป็นไปได้ อยากให้กำหนดตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้รับผิดรับชอบกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สั่งการอะไร แล้วให้ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องมารับผิดชอบฝ่ายเดียว” นายวิสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image