6 ด.บนเก้าอี้รัฐมนตรี ‘ศธ.-อว.’ ‘ณัฏฐพล-สุวิทย์’ เฟ้อฝัน-ขยันตีปี๊ป-ไม่กล้าตัดสินใจ

หมายเหตุ...เนื่องจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเวลากว่า 6 เดือน “มติชน” จึงสัมภาษณ์ความเห็นของนักวิชาการ เกี่ยวกับนโยบาย แนวทางการทำงาน และผลงานของ 2 รัฐมนตรี มานำเสนอ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ทั้งนายณัฏฐพล และนายสุวิทย์ เป็นรัฐมนตรีมากว่า 6 เดือนแล้ว ส่วนตัวคิดว่าทั้ง 2 คน ยังทำงานไม่ได้ใจทั้งคนวงการศึกษา และวงการครูเท่าที่ควร เหมือนเป็นช่วงทดลองงานของ 2 รัฐมนตรี ในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละกระทรวง
ในส่วนของนายณัฏฐพล นโยบายต่างๆ ที่ออกมา ถือว่ายังคลำไม่ถูกทิศทาง และไม่ได้มีความแตกต่างจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนอื่นๆ ที่ผ่านมา ทั้งที่สังคมค่อนข้างคาดหวัง เพราะมาจากภาคเอกชน ที่ควรกล้าคิด กล้าตัดสินใจแก้ปัญหา แต่กลับไม่เห็นการทำงานที่กระฉับกระเฉง เหมือนยังเกรงๆ พอประกาศนโยบายอะไรแล้วมีเสียงคัดค้าน ก็จะชะงัก ตรงนี้นายณัฏฐพลต้องประเมินตัวเอง และปรับปรุงการทำงาน ซึ่งอีก 6 เดือน หวังว่าจะได้เห็นภาพการปฏิรูปการศึกษาที่ชัดเจนมากขึ้น

 

Advertisement

สำหรับนายสุวิทย์ เป็นรัฐมนตรีที่เก่งในการตีปี๊บนโยบายได้เสียงดัง แต่กลับไม่ได้ใจชาวอุดมศึกษาเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเพราะนายสุวิทย์ไม่ได้ลงมาคลุกคลี หรือทำงานร่วมกับชาวมหาวิทยาลัย ได้แต่สั่งการ โดยยึดความคิดตัวเอง และนโยบายที่ออกมาเป็นสำคัญ การทำงานจึงไม่ประสานกันเท่าที่ควร ข้างบน หรือฝ่ายนโยบายเดินไปข้างหน้า แต่ฝ่ายปฏิบัติ ยังมีวัฒนธรรมองค์กรเหมือนเดิม เพราะไม่ได้รับการผลักดันที่เพียงพอ

ดังนั้น การทำงานของนายณัฏฐพล และนายสุวิทย์ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผมให้ 4.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพราะยังไม่เห็นภาพการขับเคลื่อนนโยบายที่ชัดเจน ที่สำคัญ ยังไม่เห็นภาพการทำงานที่สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา

โดยเฉพาะนายณัฏฐพล ซึ่งงานส่วนใหญ่เป็นการสานต่องานเดิมของรัฐมนตรีคนเก่า ยังคลำเป้าหมายไม่ตรงจุด หวังว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า จะเห็นภาพนโยบายการพัฒนาการศึกษาทั้งใน ศธ.และ อว.ที่ชัดเจนขึ้น”

Advertisement

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
“ส่วนตัวคิดว่ารัฐมนตรีว่าการ อว.มีความมุ่งมั่นในการทำงานเต็ม 100% สำหรับความเป็นไปได้ของนโยบายที่วางเอาไว้นั้น ค่อนข้างเป็นนโยบายที่ห่างไกลจากพื้นฐานความเป็นจริงของสภาพประเทศไทย ส่วนผลงานที่เป็นรูปธรรมที่เห็นอย่างชัดเจนในการลดข้อขัดข้องในการดำเนินงานของอุดมศึกษา คือ การลดขั้นตอน ความยุ่งยากในการทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.)

แต่การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และกลุ่มการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ อาจไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้มากเท่าที่ควร และดูเหมือนนายสุวิทย์จะทุ่มงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยกลุ่มการวิจัยแนวหน้าของโลกมากกว่า ในขณะกลุ่มมหาวิทยาลัยในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะ มรภ.และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคล (มทร.) อาจไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร แต่การพัฒนาท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่เรื่องของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้น ควรจะต้องทำร่วมกัน

การพยายามแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้า และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี มีพรมแดน มีพื้นที่การทำงานหมด แต่ มรภ.และ มทร.กลับถูกตีกรอบงานอยู่ในระดับพื้นที่เท่านั้น โอกาสที่จะได้รับงบสนับสนุนด้านการวิจัย และการทำงานที่จะข้ามไปยังจุดอื่น โดยเฉพาะการเป็นมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี ไม่สามารถทำได้ เพราะได้รับงบประมาณค่อนข้างต่ำ

ปัญหาสำคัญที่สุด และเป็นปัญหาพื้นฐาน คือ ธรรมาภิบาล แม้จะเป็นเรื่องภายในของมหาวิทยาลัย แต่อยากให้รัฐบาลสร้างความชัดเจน รวมทั้ง สร้างความชัดเจนให้กับมหาวิทยาลัยด้วยว่าควรจะอยู่ในกำกับรัฐ หรือจะให้อยู่ในหลายสถานะ เพราะมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ค่อนข้างบริหารงานลำบาก และความชัดเจนเรื่องอายุของอธิการบดี ดังนั้น ในเรื่องของการเอาใจใส่มหาวิทยาลัย ผมยังไม่เห็นความเอาใจใส่ของรัฐมนตรีว่าการ อว.มากพอ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
 

เพิ่มเพื่อน
ส่วนนายณัฏฐพล แม้จะมีความมุ่งมั่น แต่ยังไม่เห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างกระทรวง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.อาจจะกลัวม็อบ กลัวครูมากไป สุดท้ายการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เป็นหน่วยงานใหญ่ แต่การปรังปรุงโครงสร้างที่ออกมา กลับอยู่แบบเดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังไม่ได้ สุดท้ายต้องอยู่ในลักษณะนี้ต่อไป

ขณะที่การปฏิรูปการเรียนการสอน ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีแนวนโยบายอย่างไร การกระจายอำนาจให้สถานศึกษา ยังไม่มีการขับเคลื่อน หรือแนวคิดเรื่องการยุบ หรือควบรวมให้โรงเรียนขนาดเล็ก ให้มีคุณภาพ อยู่ได้เข้มแข็ง เป็นนโยบายที่ดี แต่ขับเคลื่อนไม่เต็มที่

ทั้งนี้ ยังไม่เห็นความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมในเรื่องต่างๆ เช่น การเตรียมความพร้อมของคนเพื่อเข้าสู่โลกยุคใหม่โดยอาศัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน การทำงานที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ การจัดทำ หรือมาตรฐานการสอบ และการจัดทำข้อสอบการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังไม่ปรากฎเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เลย

นายณัฏฐพลควรจะเลือกเรื่องที่สำคัญ และเป็นจุดคานงัด เพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้เกิดความสำเร็จ คือ เรื่องการเรียนรู้ และการปฏิรูปการเรียนการสอนของครู”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image