ผลวิจัย วช.-มม.-ซูเปอร์โพลชี้ ปชช.เชื่อเดินห้าง-นั่งเครื่อง-เที่ยวธรรมชาติ-กินข้าวร่วมโต๊ะ มีสิทธิติดเชื้อไวรัสโควิด-19

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) และ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่องไวรัสโคโรนาที่ประชาชนรับรู้ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยสอบถามจำนวน 1,201 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8-11 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ประชาชนสนใจ และติดตามข่าวสารเรื่องไวรัสโคโรนา มากถึงมากที่สุด ร้อยละ 56.6 สนใจในระดับปานกลาง ร้อยละ 27.8 มีช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากที่สุดผ่านสื่อเฟซบุ๊ก ร้อยละ 66.7 และสื่อโทรทัศน์ ร้อยละ 66.6

สื่อที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นในข้อมูล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.2 เชื่อมั่นข้อมูลจากสื่อโทรทัศน์ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 14 ที่เชื่อมั่นสื่อเฟซบุ๊ก ส่วนของความเข้าใจ และการรับรู้ข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา และการติดต่อ พบว่า มีความเข้าใจที่ถูกต้องในระดับปานกลาง ร้อยละ 71.5 เชื่อว่าเชื้อไวรัสโคโรนาล่องลอยทั่วไปในอากาศ แหล่งชุมชน คนหนาแน่น ร้อยละ 79.6 คิดว่าตนเองไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสนี้ และประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างทราบวิธีป้องกันจากไวรัสเมื่อต้องออกนอกบ้าน ได้แก่ ร้อยละ 83.4 ใช้หน้ากากอนามัย ร้อยละ60.4 ล้างมือบ่อยๆ และร้อยละ 56.9 ใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อที่ฝ่ามือ เป็นต้น

การรับรู้ต่อการติดต่อของเชื้อไวรัสโคโรนาในสถานการณ์ต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 86.0 คิดว่าเดินห้างสรรพสินค้าติดเชื้อไวรัสได้ ร้อยละ 83.5 คิดว่าการนั่งเครื่องบินลำเดียวกันติดเชื้อไวรัสได้ ร้อยละ 83.0 คิดว่าการไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติติดเชื้อไวรัสได้ ร้อยละ 82.1 คิดว่าการขึ้นรถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า ติดเชื้อไวรัสได้ ขณะที่ร้อยละ 81.3 คิดว่าการนั่งทานอาหารร่วมโต๊ะวงเดียวกัน ติดเชื้อไวรัสได้ และร้อยละ 47.5 คิดว่าการฟังเพลงร่วมกัน ติดเชื้อไวรัสได้

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
 

Advertisement

เพิ่มเพื่อน
ที่น่าพิจารณาคือ ความต้องการของประชาชนต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ร้อยละ 61.5 ต้องการให้แจกหน้ากากอนามัย ร้อยละ 51.2 ต้องการให้มีศูนย์ปฏิบัติการที่ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การป้องกันโรค และประชาสัมพันธ์ให้ทราบข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นจริง และร้อยละ 45 ต้องการให้แจกเจลล้างมือ

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาที่เริ่มมาจากจีน และกระจายไปยังหลายประเทศในโลก ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว สำหรับไทยการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การติดตามความเคลื่อนไหวของสังคม ตลอดจนความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมามีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ หลากหลายช่องทาง ทั้งข่าวจริง และข่าวปลอม โดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

“วช.ได้รับมอบหมายจาก อว.ในการดำเนินการสนับสนุนวิจัย และวิชาการ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ และสังคม ได้ศึกษาความคิดเห็นของประชาชนในประเทศ ทั้งในประเด็นของการเข้าถึงข้อมูล ความเชื่อมั่นในข้อมูล ช่องทางการรับข่าวสาร การปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันตนเอง การรับรู้ความเสี่ยง ความวิตกกังวล และประเด็นการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจ การกำหนดมาตรการ และนโยบายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยรวม ตลอดจนเพื่อประกอบการนำส่งข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ” ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image