ตามไปดู… ป.ป.ส.เพาะต้นกล้าเยาวชน ดัน “EF” แก้ปัญหายาเสพติด

ปัญหายาเสพติดเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม ปัญหาครอบครัว สังคม รวมไปจนถึงปัญหาระดับประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นแกนหลักในการกวาดล้าง

แต่การไล่จับผู้เสพ ผู้ค้า เอเยนต์รายเล็ก รายใหญ่เพียงแค่นั้น ปัญหายาเสพติดก็คงไม่มีวันหมดไปได้ หากประชาชนยังขาดความรู้และเข้าใจแบบผิดๆ ดังนั้นแนวทางที่ยั่งยืนคือ การบ่มเพาะเยาวชนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะถูกผิดตั้งแต่ต้น

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มา ทำให้ ป.ป.ส.จับมือ สถาบันแอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) “Thailand EF Partnership” ผลักดันทักษะ “ความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต” หรือ Executive Functions (EF) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อพัฒนาเด็กไทยเป็นพลเมืองคุณภาพของประเทศ โดยผ่านการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ทุกมิติ

นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการ ป.ป.ส.เล่าถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า สำนักงาน ป.ป.ส.ได้เพิ่มงานป้องกันปัญหายาเสพติดให้มากขึ้น โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กตั้งแต่ปฐมวัย โดยได้ดำเนินการงานด้าน EF ในกลุ่มเด็กปฐมวัยตั้งแต่ปี 2557 เริ่มจากจัดอบรมสร้างครูแกนนำเพื่อถ่ายทอดความรู้ EF จัดอบรม EF ให้แก่ครูปฐมวัยทั่วประเทศ นอกจากนี้จัดทำสื่อ เช่น หนังสือนิทาน “ชุดอ่านอุ่นรัก” จำนวน 150,000 ชุด ชุดละ 5 เล่ม รวมทั้งสิ้น 750,000 เล่ม และส่งต่อให้กับหน่วยงานภาคีเครือข่าย และได้แจกจ่ายหนังสือไปยังโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 53,553 แห่ง ต่อมาในปี 2558-2559 ได้ผลิตชุดการเล่น “เล่นล้อมรัก” เพื่อเป็นต้นแบบส่งเสริมทักษะ EF แก่เด็กอีกชุดหนึ่ง

Advertisement

“สาเหตุที่มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัยซึ่งถือว่าเป็นวัยบริสุทธิ์ ก็เพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ รู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดตั้งแต่เริ่มต้น โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาทักษะด้านสมอง หรือ EF ซึ่งจะไม่ใช้กระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องยาเสพติดแบบตรงๆ แต่จะใช้ทักษะในการบอกให้เด็กได้รู้ถึงโทษว่าไม่ดีอย่างไรผ่านการเล่านิทานชุด “อ่านอุ่นรัก” ซึ่งได้รับผลตอบรับจากทั้งครูและผู้ปกครองค่อนข้างดี เมื่อเด็กรู้จักแยกแยะถูกผิดแล้ว เมื่อโตไปก็จะไม่ยุ่งกับสิ่งไม่ดีแน่นอน” นายวิตถวัลย์กล่าว

รองเลขาธิการ ป.ป.ส.ยังเล่าถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบันว่า ยาบ้าหรือยาม้า ยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ แต่สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือการนำตัวยาที่ถูกกฎหมายไปดัดแปลงเป็นยาเสพติด เช่น ยาโปรโคดิล ยาแก้แพ้ แก้ไอ ที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นเครื่องดื่มผสม ทำให้มีอาการเมาคล้ายดื่มสุรา ซึ่งยาเหล่านี้เป็นยาควบคุม แต่ก็ยังมีการแอบซื้อและขายอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้มีเยาวชนติดสารเสพติดเพิ่มขึ้นและมีอายุเฉลี่ยน้อยลง โดยเยาวชนที่เข้ารับการบำบัดรักษาและอายุน้อยที่สุดคือ 15 ปี

นอกจากนั้นยังพบว่าสาเหตุที่เยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในปัจจุบันจะเป็นเรื่องของความอยากรู้ อยากลอง ตามเพื่อนเพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก ต่างจากสมัยก่อนที่เด็กจะติดยาเสพติดเพราะเกิดจากความทุกข์ ปัญหาครอบครัว ความรักของวัยรุ่น เป็นต้น โดยปัจจุบันมีเยาวชนเข้ารับการบำบัดทั้งโดยความสมัครใจและบังคับบำบัดปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 คน จากจำนวนประชาชนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งประเทศกว่า 1.5 ล้านคน

ทาง ป.ป.ส.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเมื่อเด็กและเยาวชนได้รับการบ่มเพาะกระบวนการทางความคิดในการแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีได้ด้วยตัวเอง จะส่งผลให้มีเยาวชนที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดลดลง และหมดไปในที่สุด

นางศุภิสรา อยู่สวน ครูโรงเรียนสุเหร่าแสนแสบ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ใช้นิทานชุด “อ่านอุ่นรัก” ซึ่งมีทั้งหมด 5 เรื่อง คือ 1.กอด 2.เมี้ยว เมี้ยว มา มา จะพาไปหาแม่ 3.ต้นกล้า ผู้กล้าหาญ 4.ไก่ย่างแสน…อร่อย และ 5.ลูกไม้…ขอโทษ ซึ่งมีเนื้อหาสอดแทรกทักษะด้านความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิตและการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันมาอ่านเสริมทักษะพัฒนาสมองให้กับเด็กระดับประถมศึกษา พบว่านิทานเด็กชุดดังกล่าวเข้าไปช่วยเติมเต็มในส่วนที่เด็กยังขาด อาทิ เรื่องไก่ย่างแสน…อร่อย จะสอนเรื่องความมีน้ำใจ, ต้นกล้า ผู้กล้าหาญ จะสอนเด็กให้เห็นสิ่งไม่ดีของการเป็นคนเกเร, เมี้ยว เมี้ยว มา มา จะพาไปหาแม่ สอนเรื่องทักษะการคิดแก้ปัญหาต่างๆ เป็นต้น โดยครูจะเล่านิทานเหล่านี้ให้เด็กฟังทุกวัน จนเริ่มมีการแลกเปลี่ยน พูดคุยถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่ดีและไม่ดี มาสู่พฤติกรรมของเด็กเอง ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าเด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยที่ครูไม่ต้องคอยบอก

ศุภิสรา อยู่สวน3

ด้าน นายวาทยศ อัศว์วิเศษศิวะกุล คุณพ่อน้องอินทัช นักเรียนชั้น ป.2 โรงเรียนเพลินพัฒนา เล่าถึงข้อดีหลังจากลูกชายได้รับการเรียนรู้ตามกระบวนการ EF ว่า โรงเรียนจะมีกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ รักการอ่าน รู้จักค้นคว้าหาความรู้ ขณะที่ทางครอบครัวก็ส่งเสริมและอบรมลูกตามแนวคิดดังกล่าวมาอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการ EF ที่ส่วนตัวเห็นว่ามีประโยชน์มาก ไม่ใช่เฉพาะการเรียนรู้และป้องกันปัญหายาเสพติดตั้งแต่วัยเด็กเท่านั้น แต่เป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักแยกแยะ รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรถูก อะไรผิด และรู้จักค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง

น้องอินทัช  2

“อย่างล่าสุด น้องอินทัชสนใจอยากปลูกต้นกระบองเพชร เขาก็ค้นหาวิธีการ ทั้งจากอินเตอร์เน็ตและการอ่านหนังสือจนสามารถปลูกได้เอง หรือตอนเขาไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน แล้วมีคนพูดไม่เพราะ เขาจะมาเล่าให้ฟัง แต่จะไม่ทำตาม เพราะเขารู้ว่าไม่ดี ดังนั้นกระบวนการนี้เป็นเหมือนกำแพง ที่เด็กสร้างขึ้น เพื่อป้องกันตนเองออกจากเรื่องไม่ดี โดยที่เราไม่ต้องไปบอก กลายเป็นนิสัย ความมีวินัยที่มาจากตัวเขาเอง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด” คุณพ่อน้องอินทัชกล่าว

น้องอินทัช

เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการบ่มเพาะอย่างดี ย่อมเติบโตมาเป็นต้นไม้ที่สวยงาม การเลี้ยงดูเยาวชนก็เช่นกัน หากดูแลและใส่ใจด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง ก็แน่ใจได้ว่าเขาเหล่านั้นจะเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติแน่นอน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image