อดีตคณบดีบัญชี มธ. ยกงานวิจัยยันอายุประชากรโลกจ่อ 100-120 ถามถ้าเกษียณ 60 ที่เหลือจะทำอะไร?

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานฉลองครบรอบ 20 ปี โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หรือ ‘ซีส์’ (SEAS) คณะศิลปศาสตร์ เป็นวันที่ 2 โดยในช่วงเช้าที่ห้องกิจกรรม เรวัติ พุทธินันทน์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มีการฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘Heart Bound-A Diferent Kind of Love Story’ จากนั้น ในภาคบ่าย ห้องริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มีการจัดเสวนาหัวข้อ ‘2020 : คลื่นลูกใหม่กับกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกและอุษาคเนย์’

รศ.ดร. พิภพ อุดร อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มธ. กล่าวว่า คลื่นที่สำคัญในยุคปัจจุบัน ได้แก่ 1. คลื่นการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ของโลกซึ่งในขณะนี้เป็นคลื่นใหญ่มาก กระทบแทบทุกประเทศทั่วโลก 2. คลื่นเทคโนโลยี ซึ่งมีอัตราการก้าวกระโดดที่เปลี่ยนทุกอย่างในชีวิตของเรา หากพิจารณาโครงสร้างประชากรของโลก ที่เราเรียกว่า ‘ปิรามิดประชากร’ ซึ่งมีฐานกว้าง คนอายุน้อย ไล่ซ้อนขึ้นไปถึงคนอายุมาก ย้อนไปเมื่อ ค.ศ.1960 ช่วงปลาย ‘เบบี้บูมเมอร์’ ที่เริ่มตั้งแต่ราว ปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เทียบกับปี 1990 หรือ 30 ปีต่อมา จะพบว่าฐานเริ่มแคบลง ปัจจุบันทรงเปลี่ยนกลายเป็นเจดีย์ทรง ‘พุ่มข้าวบิณฑ์’ สะท้อนว่ามีการเกิดน้อย และการตายน้อยยิ่งกว่า คนอายุยืนขึ้น ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย

“นี่คือเรื่องใหญ่ที่กระทบโลก เพราะเมื่ออัตราการเกิดน้อย ตายน้อยยิ่งกว่าฐานข้างบนซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงวัยกว้างขึ้นเรื่อยๆ ฐานข้างล่างคือผู้ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตรงกลางที่ต้องดูแลทั้งข้างบนและข้างล่างรับภาระมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังแรงงานจะไม่เพียงพอ ในไทย ฐานแคบลงเรื่อยๆ อีก 10 ปีข้างหน้าคือ ค.ศ.2030 อัตราส่วนของคนอายุเกิน 65 จะเกิน 20% หากแตะ 30 % เรียกว่า Super aged society หรือสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ญี่ปุ่นตัวเลขไปถึง 40% ไทยใลก 30 % ที่ตามมาคือเกาหลี และเยอรมัน”

รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า สำหรับอาเซียน ประเทศที่มีหนุ่มสาวมากที่สุด คือ ลาวและฟิลิปินส์ ส่วนประเทศที่น่าห่วงที่สุดคือ สิงคโปร์ ที่กลายเป็นปิระมิดคว่ำ ส่วนมาเลเซีย เมียนมา อินโดนีเซีย กลายเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ บรูไน ก็เริ่มมีปัญหา นี่คือประเด็นใหญ่ที่จะกระทบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกำลังแรงงานที่จะส่งไปสร้างเศรษฐกิจของปีะเทศ การวางแผนที่จะเข้าสู่วัยแรงงาน รวมถึงการดูแลผู้สูงวัย

Advertisement

“เอาเข้าจริง อายุ 60 ในปัจจุบัน ที่เรากำหนดให้เกษียณอายุ ถือว่ายังไม่แก่ ขณะนี้มีงานวิจัยที่น่าสนใจของ ลอนดอน บิซิเนส สคูล ระบุว่าถัวเฉลี่ยคนจะอายุแตะ 100 ปีแน่ๆ ในขณะที่คิดว่า 100 ปีมันยาวนาน แต่ญี่ปุ่น เยอรมัน และอเมริกา แตะไปถึง 120 ปี ไทยก็แตะ 100 ปีแน่ๆ หากตอนนี้ใครอายุ 50 และยังแข็งแรง ท่านจะไปแตะ 90 แน่ ประเด็นคือ เราเรียนหนังสือจบตอนอายุประมาณ 20 อายุ 60 เกษียณ แต่ถ้าอายุขัยแตะ 100 ปีอย่างงานวิจัย อีก 40 ปีที่เหลือ จะทำอะไร ดังนั้น การศึกษาต้องเปลี่ยน ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา” รศ.ดร.พิภพกล่าว และปิดท้ายว่า อย่างไรก็ตาม พบว่าคนอายุ 60-65 มักตั้งใจทำธุรกิจส่วนตัว เกิด ‘ซีเนียร์ สตาร์ทอัพ’ และด้วยประสบการณ์ที่มาก ทำให้ล้มเหลวน้อยกว่าคนอายุน้อย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image