มธบ.พลิกฟื้น ชุมชนย่านเกาะเกร็ด ผ่าน…ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

ชุมชนคลองศาลากุล ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งกับชุมชนปากเกร็ด จ.นนทบุรี ชาวบ้านประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำสวน เป็นหลัก บางครัวเรือนผลิตสินค้าพื้นถิ่น รวมถึงทำขนมไทยขายเป็นอาชีพเสริม บ้างก็นำสมุนไพรพื้นบ้านมาแปรรูป ซึ่งแตกต่างจากชุมชนอีกฟากของเกาะที่มีชื่อเสียงในเรื่องทำเครื่องปั้นดินเผา เดิมสินค้าที่ผลิตขึ้นในชุมชนคลองศาลากุลจะขายให้นักท่องเที่ยวเป็นหลัก ในพื้นที่วัดปรมัยยิกาวาส แต่ปัจจุบันไม่สามารถไปวางขายได้ดังเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ

เมื่อช่องทางขายสินค้าในเกาะถูกตัดขาด ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น เพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มถูกคิดค้นมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน นอกจากนี้ชาวบ้านยังช่วยกันหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า โดยส่วนใหญ่จะเป็นการออกร้านตามห้างสรรพสินค้า หรือตามมหกรรมแสดงสินค้าต่างๆ แต่ด้วยอุปสรรคที่สำคัญคือ การเดินทางลำบากเพราะต้องนั่งเรือข้ามฟาก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ขายประจำส่งผลให้การค้าขายไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้และการจัดการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้

จากปัญหาข้างต้นทำให้ธนาคารออมสินเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ผ่านโครงการ ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ส่งเสริมให้นักศึกษานำองค์ความรู้ที่ได้เรียนจากภาคทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนารายได้และความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน

Advertisement

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพ ผลิตภัณฑ์และบริการของวิสาหกิจชุมชนคลองศาลากุล ประกอบด้วย ชุมชนกระเป๋าผ้า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรและเบเกอรี่ 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนางรำ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดอกไม้ผ้าใยบัว และกลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและรับทราบปัญหา พบว่าชุมชนต้องการให้พัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีความทันสมัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ยกระดับสินค้าชุมชนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าประเภทบริการ และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชนด้วย

น.ส.ธันย์ชนก ทองนิ่ม (พัฟ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หรือ CIBA มธบ. ตัวแทนกลุ่มสมุนไพรชารางแดง เล่าว่า จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาพบว่า ชารางแดงเป็นสินค้าที่มีคุณภาพราคาไม่แพง แต่ขายไม่ค่อยได้จึงต้องการให้ช่วยหาช่องทางจัดจำหน่าย ทางทีมจึงกลับมาวิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุ พบว่าชารางแดงมีกลิ่นที่ฉุนเกินไป จึงได้คิดค้นปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยการลดไฟในการคั่ว วัดอุณหภูมิและเพิ่มการนวดใบชา จนได้สูตรที่ลงตัว ได้กลิ่นชาที่หอมละมุน หลังจากปรับสูตรและออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น จึงรู้สึกดีใจที่ได้นำความรู้ที่เรียนมา มาช่วยชาวบ้านได้จริง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
 

Advertisement

เพิ่มเพื่อน
นายธนกร พ่วงกลิ่น (ออม) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลาบ้านนางรำ กล่าวว่า โจทย์คือช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 50% ทางทีมได้รับมอบหมายให้ดูแลการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา เนื่องจากแพคเกจเดิมใช้ต้นทุนสูง เราจึงช่วยกันออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่โดยใช้โทนสีที่เรียบง่ายใช้วัสดุที่เป็นกระดาษและนำรูปเจดีย์เอียงที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดมาเป็นจุดขาย หลังจากนั้นยังช่วยทำเพจและบูธเพจให้คนเห็นมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ผลที่ได้หลังจากแก้ไขบรรจุภัณฑ์และบูธเพจกว่า 1 เดือนพบว่า มีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และหน้าร้านเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งเป็นผลที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก จากการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านที่ไม่มีหน้าร้านประจำ ทำให้พวกเราช่วยหาช่องทางขายใหม่ขึ้นจนประสบความสำเร็จและตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ได้ไปคลุกคลีกับชาวบ้านทำให้นักศึกษาที่ร่วมโครงการได้ประสบการณ์ที่ดี จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป

น.ส.กนิษฐา เรืองฉาง (มุก) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการ วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกจักสาน กล่าวว่า การลงพื้นที่สำรวจผู้ประกอบการทำให้ทราบถึงปัญหาที่เขาต้องการให้ช่วย ส่วนปัญหาที่พบ ได้แก่ 1.ไม่มีสถานที่ขายสินค้า 2.รูปแบบของสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ และ 3.การจัดการขายยังไม่เป็นระบบ ทางทีมจึงนำความรู้ในสาขาการจัดการมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการออกแบบคู่สีให้อยู่ในโทนเดียวกัน พร้อมแนะนำระบบการขายผ่านระบบออนไลน์ และจัดจำหน่ายสินค้าหน้าร้าน โดยช่วยปรับภูมิทัศน์ให้กับศูนย์จักสานบนเกาะเกร็ด เพิ่มพื้นที่โชว์สินค้า ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดูวิธีการจักสานและซื้อสินค้าเป็นของที่ระลึก ถือเป็นการสร้างจุดขายสินค้าในระยะยาวได้

เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image