เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่เพื่อประชุม “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ร่วมกับมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นโยบายและชี้แจงถึงความ จำเป็นในการปลดล็อกมหาวิทยาลัย เพื่อปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุดมศึกษาและพัฒนา มหาวิทยาลัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์ คือ 1.มหา วิทยาลัยที่จะต้องไปแข่งขันระดับโลก 2.มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3.มหาวิทยา ลัยที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์และพัฒนาพื้นที่
รัฐมนตรีว่าการ อว.กล่าวต่อว่า สำหรับบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะต้องดำเนินการใน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1.การสร้างคน เพราะคนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในศตวรรษที่ 21 กระทรวง อว. เน้นการสร้างคนตลอดช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนซึ่งเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ ดำเนินการผ่านโครงการยุวชนสร้าง และคนทำงาน ที่ต้องเพิ่มหรือปรับทักษะแห่งอนาคต ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวไปสู่การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต 2.การสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัย โดยใช้ 4 platforms คือ การวิจัยเพื่อสร้างคน, การวิจัยเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน, การวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.การวิจัยแก้ปัญหาท้าทายระดับชาติและระดับโลก เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ หรือฝุ่น PM2.5 โดยขอให้เน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแบบ จตุภาคี ทั้งรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยและภาคประชาสังคม รวมทั้งเครือข่ายต่างประเทศ และ 3.การสร้างนวัตกรรม จากสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี ให้งานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ หรือจากหิ้งสู่ห้าง และใช้ประโยชน์ได้จริง
ดร.สุวิทย์กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีโจทย์ 3 ข้อใหญ่ให้ อว. ขับเคลื่อน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและภารกิจของ อว. โดยโจทย์ทั้ง 3 ข้อ ได้แก่ การสร้างคนผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ, การสร้างกลไกเศรษฐกิจใหม่ของประเทศด้วย BCG Economy Model หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความเข้มแข็งของประเทศ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง และขับเคลื่อนด้วย วทน. และการปรับเปลี่ยนหรือพลิกโฉมมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
“มหาวิทยาลัยจะต้องพลิกแผ่นดินอีสานจากความยากจนสู่ความมั่งคั่ง โดยมุ่งสู่การเป็นอีสาน 4.0 ผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ ที่จะต้องพยายามขับเคลื่อนไปโดยใช้จุดเด่นของอีสานในระดับโลก ส่วนมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในพื้นที่ก็ต้องสามารถสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาพื้นที่ สามารถเปลี่ยนเกษตรกรอีสานให้เป็นสมาร์ทฟาร์ม สามารถเปลี่ยนเอสเอ็มอี เป็นวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและสร้างสตาร์ทอัพในแต่ละท้องถิ่น เปลี่ยนเกษตรดั่งเดิมสู่เกษตรนวัตกรรม และจะต้องพัฒนาหลักสูตรใหม่ เป็นหลักสูตรเชิงพื้นที่ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และเห็นด้วยให้วิทยาลัยชุมชนเข้ามาช่วย การศึกษาผู้สูงอายุ” ดร.สุวิทย์กล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อ๊อฟ ศุภณัฐ รุดแจ้งความ ดิไอคอนกรุ๊ป ทำเสียหายรวมนับล้าน แจงปมภาพเป็นผู้ก่อตั้ง
- ‘อดิศร’ ชม ‘พิศาล’ ลูกผู้ชายลาออกสมาชิกพรรค อวยพรให้ อาการทุเลา-แข็งแรง ก่อนคดีตากใบ หมดอายุความ
- เซเลนสกีเผย โสมแดงหนุนทหารรัสเซีย ส่งคนช่วยรบสงครามยูเครน
- ‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ ลุยหาเสียงเพนซิลเวเนีย หวังกวาดคะแนนเสียง โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง