สอศ.สั่งสอบวิทยาลัยเทคโนโลยีชัยนาทเปิดสอนนอกที่ตั้งผิดกม. งดเงินอุดหนุน-ไม่รับรองวุฒิ

เมื่อวันที่ 2ึ7 กุมภาพันธ์ นายณรงค์  แผ้วพลสง  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า  ตามที่วิทยาลัยเทคโนโลยีชัยนาท จังหวัดชัยนาท ประกาศเลิกกิจการ  ทำให้นักศึกษา กว่า 200 คน  จากศูนย์บางเลน จ.นครปฐม ศูนย์บ้านไร่ จ.ราชบุรี ศูนย์กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และอีกหลายๆศูนย์  เดินทางมาขอคำชี้แจง ซึ่งทางวิทยาลัย โดยทางโรงเรียนแจ้งเหตุผลว่าประสบภาวะขาดทุน ไม่สามารถเปิดโรงเรียนต่อได้ จะชดเชยเงินค่าเรียนให้นักเรียนภาคบ่าย ที่ยังไม่จบการศึกษา เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาทในเดือนพฤษภาคม 2563 และใบระเบียนแสดงผลการเรียนหรือใบรบ. จะได้รับในวันที่ 30 เมษายน นั้น กรณีนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตรวจสอบพบว่า  มีการเปิดสอนนอกสถานที่ตั้งไม่ถูกต้อง ทั้งเปิดสอนตามห้างสรรพสินค้า หรือตามองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)  ซึ่งเมื่อสอศ. ตรวจสอบพบ ก็งดให้เงินอุดหนุนรายหัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 รวมถึงไม่รับรองการออกใบรบ. ให้ และขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง คิดว่าระหว่างสอบสวนทางวิทยาลัยรู้ตัวจึงสั่งปิดก่อน  ทั้งนี้การประกาศเลิกกิจการดังกล่าว เป็นการปิดศูนย์นอกที่ตั้ง แต่วิทยาลัยเทคโนโลยีชัยนาท ยังคงอยู่ดังนั้น หากตรวจสอบว่า มีการเปิดสอนที่ไม่ถูกต้องจริง ก็ต้องสั่งให้ปิดกิจการถาวร

“ทางสอศ. ทราบเรื่องในช่วงปลายปี2562 จึงลงไปตรวจสอบที่วิทยาลัยต้นทาง พบว่า มีการขนเด็กนั่งรถกระบะ เข้ามา  จากนั้นตรวจสอบพบว่า ไปเปิดศูนย์การเรียนนอกสถานที่ตั้งอย่างไม่ถูกต้อง จึงสั่งงดการสนับสนุนเงินรายหัว และไม่รับรองใบรบ. ดังนั้นทางวิทยาลัยก็ต้องงดรับเด็กปีการศึกษา 2563 ไปโดยอัตโนมัติ  อย่างไรก็ตามกรณีนี้ผมเองเพิ่งพบเป็นครั้งแรก ดังนั้นจึงแจ้งเตือนไปยังวิทยาลัยอาชีวะทุกแห่งทั่วประเทศ การเปิดสอนนอกสถานที่ตั้งนั้น ถือว่าผิด ไม่สามารถทำได้ ส่วนผู้เรียนที่ไม่แน่ใจ ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่สอศ. ”นายณรงค์กล่าว

นายณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับนักศึกษาที่เรียนจบไปแล้ว ก็ต้องตรวจสอบเป็นรายบุคคล  จะเหมาว่า เรียนอย่างไม่ถูกต้องทั้งหมดคงไม่ได้ ส่วนนักศึกษาที่ยังไม่จบ สามารถนำหน่วยกิตในรายวิชาที่เรียนไปแล้วมาเทียบโอนเพื่อเข้าเรียนในที่ใหม่ได้  ส่วนค่าเสียหายนั้น ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะเด็กที่เลือกเรียนนอกสถานที่ตั้ง บางคนก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าไม่ถูกต้อง เพียงแต่อยากเรียนรัดให้ได้วุฒิโดยเร็ว ดังนั้น การจ่ายค่าเล่าเรียนอะไรที่เป็นไปตามระบบ  ก็ต้องได้รับการเยียวยา ส่วนเงินที่เรียกเก็บกันนอกกติกา ทางสอศ. ก็คงไมยุ่งเกี่ยวอะไรไม่ได้ เพราะถือเป็นข้อตกลงระหว่างวิทยาลัยกับนักศึกษา

นายอรรถพล  ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) เปิดเผยว่า  ตามที่โรงเรียนอนุบาลบ้านหนู  ประกาศเลิกกิจการตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและจำนวนเด็กที่ลดลงนั้น  ถือเป็นเรื่องปกติ โดยขณะนี้มีทั้งโรงเรียนที่มีนักเรียนลดลง และโรงเรียนที่ยังไม่ได้มาแจ้งปิดกิจการ แต่ไม่มีเด็กเรียนแล้ว ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ส่งหนังสือเตือนโรงเรียนกว่า 100  แห่ง  ที่ไม่มีเด็กเรียนแล้ว ให้มาแจ้งปิดกิจการ  เพื่อลงข้อมูลไว้ในระบบและแจ้งให้ผู้ปกครองได้ทราบอย่างเป็นทางการ หากไม่มาแจ้งทางสช. จะตั้งคณะกรรมการควบคุม เข้าไปบริหารจัดการและสั่งปิดอย่างเป็นทางการ

Advertisement

“การอนุญาตให้ปิดกิจการจะต้องดูเหตุผลประกอบหลายอย่างทั้งในเรื่องจำนวนเด็กที่ลดลง และความสามารถในการจ่ายเงินเดือนครูและบุคลากร และการโอนย้ายนักเรียนไปโรงเรียนใกล้เคียงที่จะต้องเคลียร์ให้เรียบร้อย โดยเหตุผลส่วนใหญ่มาจากสภาพเศรษฐกิจ จำนวนเด็กที่ลดลง และปัญหาเรื่องมรดกของทางผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งเอง โดย ยอดโรงเรียนขอปิดกิจการนั้น ผมเองมองว่า ไม่มาก แต่จะขอปิดจำนวนเท่าไร ไม่สามารถบอกได้  เพราะที่ผ่านมามีทั้งโรงเรียนที่ขอปิดกิจการ และขอเปิดกิจการ ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ”นายอรรถพลกล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image