กก.ปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ทำคลอด ‘อาชีวะในภูมิภาค 6 เขต’ !!

ภายหลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายในการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ใหม่ ภายใต้คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งที่ผ่านมามีศึกษานิเทศก์ (ศน.) บุคลากรตรวจสอบภายใน (ตสน.) และบุคลากรกลุ่มไอซีที ที่เคลื่อนไหวคัดค้าน ไม่ขอย้ายไปอยู่ภายใต้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.)

โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ ที่จะขออยู่กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เช่นเดิม ทั้งจะทำให้การทำงานลำบากมากขึ้น ต้องเดินทางไกลมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น

ที่สำคัญ จะไม่ได้รับการดูแลเหมือนอยู่กับ สพท.เพราะจะกลายเป็นเพียง “ลูกเมียน้อย” ที่อยู่ใน ศธจ.เท่านั้น

ทำให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องออกมาห้ามปรามบุคลากรเหล่านี้ ว่าอย่าเพิ่งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน และขอเวลาให้คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ศึกษารายละเอียด และสรุปก่อน

Advertisement

นอกจากนี้ ศธ.ยังมีนโยบายปฏิรูปอาชีวศึกษา ซึ่ง นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาโครงสร้างของอาชีวศึกษา เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาคนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยากให้ทุกภาคส่วนมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำให้การจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา เป็นการเรียนที่ตอบโจทย์ประเทศ ซึ่งนายณัฏฐพลได้รับลูก และผลักดันให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ออกแบบพิมพ์เขียวทิศทางการพัฒนาอาชีวศึกษา

ซึ่งเลขาธิการ กอศ.มั่นใจว่าในปี 2563 จะพลิกโฉมหน้าการทำงานของ สอศ.เพื่อให้เห็นการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น โดยจะพลิกความเชื่อ พลิกนโยบาย พลิกการดำเนินงาน สุดท้าย เป้าหมายจะพลิกไปตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากโครงสร้างอาชีวศึกษาไม่ซับซ้อนเหมือนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะมีเพียง สอศ.ที่เป็นหน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานระบบพื้นที่ คือสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ และเอกชน

โดยก่อนหน้านี้ มีผู้เสนอให้ตั้งหน่วยงานระดับภูมิภาค ทำหน้าที่คล้ายๆ กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำหน้าที่ประสานระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง และสถานศึกษาในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากวิทยาลัยอาชีวศึกษามีกว่า 400 แห่ง เลขาธิการ กอศ.อาจดูแลไม่ทั่วถึง

Advertisement

ทำให้นักวิชาการหลายคนทักท้วง และวิพากษ์ว่าการเพิ่มหน่วยงานดังกล่าว แทนที่จะทำให้ สอศ.มีโครงสร้างเล็กลง และทำงานคล่องตัวมากขึ้น จะทำให้โครงสร้างใหญ่โตขึ้น การประสานระหว่างส่วนกลาง และสถานศึกษาอาชีวศึกษาจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น ล่าช้ามากขึ้น อีกทั้ง ต้องใช้กำลังคน และงบประมาณเพิ่มมากขึ้นด้วย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
 

เพิ่มเพื่อน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ล่าสุด ที่มี นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.

มีมติให้ สอศ.จัดตั้งหน่วยงานอาชีวศึกษาในระดับภูมิภาคขึ้นมา 6 เขต กระจายตามภูมิภาคต่างๆ

โดยให้เหตุผลว่า เลขาธิการ กอศ.ดูแลวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งหมดได้ไม่ทั่วถึง

อีกทั้ง จำนวนคน และผู้เรียนมีมากขึ้น โจทย์การพัฒนาการศึกษามีมากขึ้น หากจะให้ทุกอย่างขึ้นตรงกับเลขาธิการ กอศ.ทั้งหมด อาจจะไม่ทันการณ์ เพื่อให้แต่ละวิทยาลัยมีความเข้มแข็งตามบริบทพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีอาชีวะเขตเข้ามาช่วยดูแล

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะขับเคลื่อนเพื่อบรูณาการงานของ ศน., บุคลากร ตสน.และบุคลากรกลุ่มไอซีที โดยมีนายวราวิช เป็นประธาน และมีตัวแทนของแต่ละกลุ่ม เพื่อรับฟังปัญหา และหาทางออกร่วมกัน โดยทางออกนั้น จะต้องสอดคล้องกับแผนบรูณาการของ ศธ.ด้วย

สำหรับ สพฐ.ได้เสนอขอจัดตั้งอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สพฐ.เพื่อดูการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรใน สพฐ.จากเดิมแต่การแต่งตั้งโยกย้ายจะขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สังกัด สป.ศธ.ซึ่งไม่ใช่ สพฐ.เป็นผู้ดูแลโดยตรง ต่อไปหากมี อ.ก.ค.ศ.สพฐ.หน่วยงานต้นสังกัดจะดูแลเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งที่ประชุมขอให้ทบทวนรายละเอียด และกลับมาเสนอที่ประชุมใหม่อีกครั้ง

ในส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายระดับพื้นที่นั้น สพท.มีอำนาจในการดูแลบุคลากรทั้งการแต่งตั้ง โยกย้าย และการลงโทษทางวินัย ให้เป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่ฯ ที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัด

ซึ่งการโยกย้ายในภาพรวมในระดับจังหวัด จะต้องอยู่ในขอบเขตที่ สพฐ.กำหนด เช่น จังหวัดหนึ่งมี สพท.หลายเขตฯ คณะกรรมการในระดับจังหวัดที่ดูแลเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย จะมีผู้อำนวยการ สพท.ร่วมเป็นตัวแทนในการพิจารณาด้วย ไม่ใช่ผู้อำนวยการ สพท.คนเดียวมีอำนาจ ทำให้การทุจริตเกิดได้ยากขึ้น

ส่วนกรณีที่บางจังหวัดมี สพท.เพียงเขตเดียว แสดงว่าจังหวัดนั้นเล็กมาก ซึ่งนายวราวิชระบุว่าหากเป็นเช่นนั้น ต้องยอมให้ดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายตามนั้น

ต้องจับตาว่าข้อสรุปเกี่ยวกับโครงสร้าง ศธ.จะมีหน้าตาอย่างไร??

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image