สช.จัดระเบียบร.ร.เอกชน ใน-นอกระบบ

สช.จัดระเบียบร.ร.เอกชน ใน-นอกระบบ

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่มีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมหารือเรื่องการรับนักเรียนอนุบาล 3 ขวบ และมีมติว่าให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) กำชับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ว่าในการพิจารณาให้โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดรับอนุบาล 3 ขวบได้ ให้เป็นไปตามมาตรการที่ สพฐ.กำหนดไว้เมื่อปีการศึกษา 2562 คือ ถ้าในพื้นที่มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หรือโรงเรียนในสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียน สพฐ.จะไม่เปิดรับนักเรียน และถ้าในพื้นที่ไม่มีโรงเรียน สช.หรือ อปท.อยู่เลย สามารถยื่นเรื่องของเปิดรับนักเรียนได้

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมทบทวนมติเห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้โรงเรียนเอกชนมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยให้อำนาจในการอนุญาตให้พานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษาเฉะาโรงเรียนเอกชนนั้น ถ้าไม่มีการพักแรมให้เป็นอำนาจขอผู้อำนวยการสถานศึกษาในการอนุญาต แต่กรณีที่ค้างคืนภายในประเทศให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้อนุญาต ในส่วนที่มีการค้างคืนต่างประเทศจากเดิมที่ต้องเสนอมาให้ ปลัดศธ.พิจารณา เปลี่ยนให้ผู้รับใบอนุญาตให้การอนุญาต โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบจากการคณะกรรมการบริหารโรงเรียนด้วย และเมื่อมีการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา สช.เห็นว่าจะต้องกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ เมื่อโรงเรียนขออนุญาตนักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา โดยเฉพาะการไปต่างประเทศต้องรายงานการอนุญาตมายัง สช.ก่อนเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน ทั้งนี้ได้ให้อำนาจไว้ว่าถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตเห็นว่าการเดินทางไปครั้งนี้อาจจะเกิดภัยตรายสามารถสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกได้

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สช.เสนอเรื่องขอความเห็นชอบในเชิงนโยบายเพื่อพัฒนางานจากที่ประชุม ในเรื่อง การให้ผู้อนุญาตบังคับใช้มาตรา 95 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และหรือมีคำสั่งควบคุมกิจการของโรงเรียนในระบบที่ไม่จัดทำตราสารจัดตั้ง รายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน และรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR)เนื่องจากมีโรงเรียนเอกชนบางส่วนไม่ส่ง SAR เฉพาะโรงเรียนในกรุงเทพฯ ไม่ส่งมีถึง 234 แห่ง จากโรงเรียนทั้งหมด 693 แห่ง จากที่กฎหมายกำหนดให้ สช.เป็นนายทะเบียนกลางเพื่อจัดเก็บเอกสารเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมา สช.พยายามจัดเก็บและหาทางทวงถามมาตลอด ถ้าในวันที่ 27 มีนาคมนี้ โรงเรียนไม่ยอมส่งมา ต้องดำเนินการตามกฎหมายกำหนดคือ อาจจะงดการรับนักเรียนในปีการศึกษาต่อไป

“ขณะนี้ สช.ต้องการจัดระเบียบโรงเรียน ในเรื่องของจำนวนโรงเรียนที่มีอยู่จริง และโรงเรียนที่ไม่ประกอบกิจการแล้วต้องเลิกกิจการ จะไม่ปล่อยแช่ไว้ ซึ่งผมรายงานผลการติดตามโรงเรียนเอกชนที่ไม่มีจำนวนนักเรียนแต่ยังไม่ยื่นคำขอเลิกกิจการโรงเรียนในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนในระบบที่ไม่ปรากฏจำนวนนักเรียนและยังไม่ยื่นคำขอเลิกกิจการ จำนวน 124 โรง แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร จำนวน 61 แห่ง ต่างจังหวัด จำนวน 63 แห่ง หลายแห่งยังมีครูอยู่ ทำให้รัฐต้องส่งเงินสมทบเดือนละ 6% ในทุกเดือน รวมทั้งส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ครูเอกชนอยู่ ทั้งนี้พบครูประมาณ 100 คน ที่มีชื่ออยู่ในโรงเรียนเหล่านี้ด้วย ทำให้รัฐเสียค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมากกว่า 1 แสนบาท ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้สช.มีหนังสือติดตามทวงถามโรงเรียน หากโรงเรียนไม่ดำเนินการใดๆ สช. จำเป็นต้องสั่งตั้งกรรมการควบคุมโรงเรียน เพื่อเก็บหลักฐานมาไว้ในทะเบียบสช. เพื่อคุ้มครองประชาชน เพราะที่ผ่านมามีประชาชนที่เรียนจบจากโรงเรียนที่เลิกกิจการไป มาขอหลักฐานทางการศึกษา แต่สช.ไม่สามารถหาหลักฐานให้ได้ เนื่องจากโรงเรียนไม่ทำเรื่องเลิกกิจการ” นายอรรถพล กล่าว

Advertisement

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่มีกว่า 10,000 แห่ง สช.พยายามรวบรวมข้อมูลสถานะการดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนวิชาชีพ โรงเรียนฝึกทักษะชีวิต และโรงเรียนศิลปะและกีฬา ในข้อมูลปัจจุบันมีโรงเรียนทั้งหมด 7,464 แห่ง ที่สช. ติดต่อให้ส่งรายงานตามที่กฎหมายกำหนดมาให้ แต่โรงเรียนหลายแห่งไม่ส่งข้อมูลมา ทำให้สช.ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าโรงเรียนเหล่านี้มีอยู่จริงหรือไม่ ที่ประชุมมีมติให้สช.ส่งหนังสือไปยังโรงเรียนเหล่านี้ส่งหลักฐานกลับมายัง สช. โดยให้เวลา 90 วัน ถ้าไม่ตอบกลับมา ถือว่าโรงเรียนแห่งนั้นไม่ประกอบกิจการ และจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทุกราย ทั้งนี้โรงเรียนนอกระบบขอความเห็นใจจาก ศธ.ด้วย เนื่องจากคำสั่งปิดสถานศึกษา ทำให้โรงเรียนนอกระบบที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเดือดร้อน เนื่องจากต้องจ่ายค่าเช่า และเงินเดือนครู จึงขอให้เจ้าของสถานที่ลดค่าเช่าได้หรือไม่ ต่อไปสช.จะทำหนังสือเพื่อขอความเห็นใจให้กับโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ด้วย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image