เห็นด้วย-คัดค้าน? วงวิชาการ “เสียงแตก”เหตุกรมศิลป์ให้ยืมโบราณวัตถุโชว์ในพิพิธภัณฑ์ห้างสรรพสินค้า

จากซ้าย ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม, ผศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร, อ.ปฐมฤกษ์ เกตุทัต

สืบเนื่องกรณีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมเผยแพร่คุณค่าศิลปะและ วัฒนธรรมไทย ด้วยการให้ยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เก็บรักษาอยู่ในคลังกลางของกรมศิลปากร โดยจะจัดแสดงใน ‘ไอคอนสยาม เฮอริเทจ มิวเซียม’ (ICONSIAM Heritage Museum) บนพื้นที่โครงการไอคอนสยาม ต่อมา เกิดกระแสคัดค้านโดยมีผู้รณรงค์ล่ารายชื่อในเวปไซต์ change.org โดยตั้งแคมเปญว่า “ยั้บยั้งการนำศิลปวัตถุและโบราณวัตถุไปให้เอกชนจัดการ” โดยให้เหตุผลเรื่องความห่วงใยความเสียหาย และอื่นๆ รวมถึงมีผู้วิจารณ์ในโลกโซเชียลว่า เป็นการนำโบราณวัตถุของชาติไปให้เอกชนหาผลประโยชน์หรือไม่นั้น

1467355829_01 พิธีลงนามสัญญา_1

ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม อดีตอาจารย์ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะอันดับต้นๆของเมืองไทย ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนมองว่า หากเอกชนดำเนินการอย่างมีมาตรฐานสูง จะช่วยแบ่งเบาภารกิจของกรมศิลปากรซึ่งมีข้อจำกัดหลายประการ หากบรรลุวัตถุประสงค์ จะนับเป็นการเผยแพร่ที่กว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์

“ผมคุ้นเคยกับเพื่อนหลาย ฯ คน ที่ไม่เห็นด้วยกับกรมศิลปากร เรื่องจะให้เอกชนขอยืมศิลปะโบราณวัตถุไปแสดง เพราะมีความห่วงใยสมบัติล้ำค่าของชาติ ซึ่งปัจจุบัน ไม่มีทางสร้างขึ้นใหม่เลย หรือหากสร้างขึ้นใหม่ได้ ก็ขาดคุณค่าด้านมิติทางประวัติศาสตร์

Advertisement

ผมเองก็ร่วมห่วงใยเช่นกัน แต่คิดเห็นแตกต่างว่า น่าสนใจความปราถนาดีของเอกชน ที่หากดำเนินงานอย่างมีมาตรฐานสูง จะช่วยแบ่งเบาภาระกิจของกรมศิลปากรที่มีข้อจำกัดหลายประการ รวมทั้งงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่างานวิชาการ โบราณคดี

ข้อเสนอของเอกชน หากบรรลุวัตถุประสงค์ ได้ผลดีด้วยประสิทธิภาพด้านการจัดการ การเผยแพร่จะกว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีนักวิชาการโบราณคดีของกรมศิลป์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำด้านความถูกต้อง ด้านความเหมาะสมทางวิชาการ นี่แหละที่น่าสนใจ

ของดีของเรา มีอยู่ที่เดียวในโลก ให้เขายืมเถอะ จัดการอย่างมีมาตรฐาน รักษาความปลอดภัยสูงสุด ยืมไปบ่อย ๆ ยิ่งดี เขาช่วยเผยแพร่ของวิเศษของเราให้โลกรับรู้ เราไม่ต้องเสียเงินมากมายเพื่อการขนส่ง เพื่อการประชาสัมพันธ์ ซ้ำยังได้บุญคุณอีกด้วย ส่วนที่เราจะขอยืมเขามา หากบ่อย ๆ เราคงขัดข้องตรงที่ค่าใช้จ่าย รวมค่าประกันภัย เราสู้ไหวหรือ”

Advertisement

 

01 ภาพบรรยากาศทั่วไปของการจัดแสดงศิลปวัตถุที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย
โบราณวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ด้าน ผศ.ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน “วัดร้างในบางกอก” แสดงความเห็นว่า ตนห่วงใยในเรื่องสำคัญประการหนึ่ง คือ การใช้โบราณวัตถุเหล่านั้นไปสร้างมาตรฐานในการกำหนดอายุรูปแบบและความน่าเชื่อถือเพื่อการตั้งราคาขายโบราณวัตถุโดยเอกชน อันอาจส่งผลกระทบต่อการแสวงหาโบราณวัตถุมาป้อนตลาดมากขึ้น

“ส่วนตัวผม เกรงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง คือการใช้โบราณวัตถุเหล่านั้นไปสร้างมาตรฐานการกำหนดอายุรูปแบบและความน่า เชื่อถือในการตั้งราคาโบราณ-ศิลปวัตถุในวงการค้าโบราณวัตถุซึ่งมักดำเนินการ โดยเอกชน และอาจมีผลกระทบทำให้เกิดการแสวงหาวัตถุมาป้อนตลาดเพิ่มมากขึ้นซึ่งก็เท่า กับจะมีแหล่งโบราณคดีถูกเพ่งเล็งที่จะเข้าไปลักลอบขุดเพิ่มขึ้นอีกด้วย ไม่รู้ว่าเป็นห่วงถูกทางหรือเปล่านะครับ”

 

ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน "วัดร้างในบางกอก"
ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน “วัดร้างในบางกอก”

ด้าน ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชุมชนและวัฒนธรรมเมือง มองถึงประเด็น “จริยธรรมวิชาชีพ” เพราะกรมศิลปากรเป็นสมาชิก สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM (International Council of museums) นอกจากนี้ ยังมีประเด้นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นใยแมงมุมอีกด้วย

“ถ้านายทุนมีเจตนาบริสุทธิ์เสนอให้ อุทิศพื้นที่ในศูนย์การค้าให้กรมศิลป์จัดตั้งห้องจัดแสดง. เป็นส่วนขยายจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ. การที่นายทุนจะเข้ามาทำพิพิธภัณฑ์ยังงัยก็ต้องเอาคนกรมศิลป์(หรือพวกบริษัท โบราณคดีขายตัว)เข้ามาดำเนินการทางข้อมูลอยู่ดี. แต่ประเด็นหลัก มันอยู่ที่จริยธรรมวิชาชีพ. กรมศิลป์เป็นสมาชิกICOMซึ่งเขาก็มีcharterที่เราต้องปฎิบัติตามเป็นสากลในวิ ชาชีพนั้นๆ ยิ่งกว่านั้นมันยังมีเบื้องลึกโยงใยผลประโยชน์ทับซ้อนอีก ลองสืบดูแล้วจะรู้ว่ามันเป็นใยแมงมุมของกลุ่มผลประโยชน์”

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ (ภาพจากประชาไท)
ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ (ภาพจากประชาไท)

หลังจาก “คอมเม้นต์” ของ 2 นักวิชาการข้างต้น ศาสตราจารย์ ดร.สันติ มีคำตอบถึงประเด็นของ ผศ.ดร. ประภัสสร์ เรื่องความห่วงใยในการถูกใช้เรื่องนี้ไป “ตั้งราคาโบราณวัตถุ” ซึ่งอาจส่งผลให้มีการหาของป้อนตลาด และลักลอบขุดมากขึ้น ว่า สิ่งที่ ผศ.ดร. ประภัสสร์กังวลนั้น เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้ว แต่ต่อไปอาจ “ขัดขา” ได้ถนัดยิ่งขึ้นก็ได้

“เข้าใจว่าทุกวันนี้เรื่องที่อาจารย์กังวล มันก็มีอยู่แล้ว ต่อไปอาจจะหลบอยู่ในมุมมืดไม่ได้มิดชิดเหมือนก่อน กรมศิลปากรและนักวิชาการมุมสว่าง จึงน่าจะขัดคอ ขัดขาได้ถนัดยิ่งขึ้น”

ส่วนประเด็น “จริยธรรม” ตามที่ ปฐมฤกษ์ เกตุทัต ตั้งข้อสังเกตนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สันติ รับว่าเห็นด้วย ซึ่งต้องแก้ไขเร่งด่วนแต่หากยอมให้เป็นอุปสรรคในการริเริ่มสิ่งต่างๆ คงไม่สามารถคิดทำอะไรใหม่ๆได้เลย

“ผมก็คิดเห็นอย่างอาจารย์ ปฐมฤกษ์ว่าด้วยเรื่องความเสียหายทางจริยธรรม ซึ่งเราก็ต้องซ่อมแซมเร่งด่วน เพราะมันลุกลามมากจนเป็นปรกติในสังคมไทย หลายส่วนงานก็พูดถึงเรื่องการฟื้นฟูสู้รบกับมัน แต่หากยอมให้มันเป็นอุปสรรคในการริเริ่มใด ๆ เช่นงานจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรม เราคงจะคิด จะทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ได้เลย ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ก็ตาม”

นี่คือส่วนหนึ่งของความเห็นในมุมมองนักวิชาการที่ต่างมีเหตุน่านำไปขบคิดอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image