สช. จับมือสถาบันเอกชนเปิดห้องเรียนออนไลน์ต้านภัยโควิด

สช. จับมือสถาบันเอกชนเปิดห้องเรียนออนไลน์ต้านภัยโควิด

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการจัดการศึกษาออนไลน์ ว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังไม่พ้นวิกฤตและเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ที่ทุกหน่วยงานต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด โดยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีได้แถลงเพื่อใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อเป็นการป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ปฎิบัติตามพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว และได้ประกาศแจ้งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศแล้วนั้น รวมถึงก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาการดำเนินงานของสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ได้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคของการขาดแคลนครู การจัดการเรียนการสอนขาดประสิทธิภาพ รวมทั้งนักเรียนไม่สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายในสื่อออนไลน์ได้ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ตนจึงได้ดำเนินการวางนโยบายการจัดการศึกษาออนไลน์ให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนทุกคน ให้สามารถเข้าใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เรียนที่จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลานี้

นางกนกวรรณ กล่าวต่อว่า โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ได้จับมือกับสถานศึกษาเอกชน 5 แห่ง ที่มีระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่พร้อมให้บริการร่วมใช้ระบบออนไลน์ของโรงเรียนแก่โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยหวังว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นการสร้างความรู้แก่เด็กและเยาวชนได้อย่างเหมาะสม “เรียนฟรีที่บ้าน ปลอดภัย ได้ความรู้” สามารถการสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเราได้รับความร่วมมือโรงเรียนเอกชนที่พร้อมให้บริการการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย จากโรงเรียนและสถาบันที่มีคุณภาพที่อาสานำร่องช่วยเหลือผู้เรียน และช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของชาติ ได้แก่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนกรุงเทพวิทยาการคอมพิวเตอร์ โรงเรียนมัธยมยานากาวา โรงเรียนวรรัตน์ศึกษา และสถาบัน 168 ติวเตอร์ออนไลน์ เพื่อจัดการศึกษาออนไลน์ขึ้น ผ่านการรวบรวมข้อมูลไว้บนเว็บไซต์ของ สช.โดย 1.โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ได้จัดการเรียนการสอนออนไลน์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ และตามข้อกำหนดของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ให้บริการใน 9 วิชา 5 สาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งได้นำเนื้อหาการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับการสอน iPSLE ของประเทศสิงคโปร์ มาสอดแทรกในการจัดการเรียนการสอน โดยจัดสอนทั้งในภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ และได้ปรับโครงสร้างหลักสูตร Intensive English ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น วิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา 2.โรงเรียนกรุงเทพวิทยาการคอมพิวเตอร์ จัดการเรียนการสอนออนไลน์ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษา ปีที่ 6 ทั้ง 8 กลุ่มสาระ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 พร้อมทั้งมีแบบทดสอบวัดผล ประเมินผลผู้เรียน สามารถคำนวณคะแนนจัด Ranking ผู้เรียน มีระบบยกระดับคุณภาพผ่านระบบ Virtual School Online หรือระบบโรงเรียนออนไลน์ยุค Digital 5G เป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการศึกษา เป็นโรงเรียนเสมือนจริงในยุคดิจิทัล ที่วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยระบบ Artificial Intelligence หรือ AI ซึ่งระบบนี้เป็นเครื่องมือสำหรับโรงเรียนและผู้ปกครอง ที่จะเพิ่มคะแนน O-NET GAT PAT และ 9 วิชาสามัญ ของนักเรียนให้สูงขึ้นได้ โดยนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามความต้องการของนักเรียน และนักเรียนสามารถทบทวนบทเรียนซ้ำกี่ครั้งก็ได้ จากครูผู้สอนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประสบการณ์สูง จากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน 3.โรงเรียนมัธยมยานากาวา จัดการเรียนการสอนออนไลน์เฉพาะภาษาญี่ปุ่น ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นAdvance ในระดับ N5 – N1 โดยมีการวัดผลประเมินผลเป็นรายบุคคล ไม่จำกัดอายุและช่วงวัยของผู้เรียน โดยสามารถเลือกเรียนได้ 2 รูปแบบตามความถนัดและความพร้อมของผู้เรียน คือ ใช้ภาษาไทยเรียนภาษาญี่ปุ่น และใช้ภาษาอังกฤษเรียนภาษาญี่ปุ่น โดยการจัดทำเนื้อหาและหลักสูตรออนไลน์ได้รับความร่วมมือจากสมาคมพัฒนาบุคลากร (ไทย-ญี่ปุ่น) และมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีแนวคิดในการใช้ญี่ปุ่นเป็นฐานในการพัฒนาเยาวชนไทย เพื่อกลับมารับใช้บ้านเกิด และเปิดโอกาสให้เข้ามาเรียนรู้ได้กว่า 1 ล้านคน 4.โรงเรียนวรรัตน์ศึกษา ได้นำรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ โดยนำครูหรือผู้สอน และผู้เรียนในทุกระดับมาเจอกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถจัดห้องเรียนออนไลน์ตามระดับชั้น ตามรายวิชา โดยมีครู 1 คน รองรับนักเรียนในชั้นเรียนออนไลน์ได้ตั้งแต่ 1-100 คน นัดเวลาเรียนได้ ซึ่งระบบจะรองรับผู้เรียนได้จำนวนทั้งสิ้น 20,000 คน เสมือนเป้นสื่อกลางในการแบ่งปันให้โรงเรียนที่สนใจมาจัดห้องเรียนออนไลน์ได้ โรงเรียนละไม่เกิน 500 คน มีระบบค้นหาครูผู้สอนที่มีความสามารถ เลือกเรียนได้ทั้งแบบตัวต่อตัวหรือแบบกลุ่ม วิเคราะห์การเรียนการสอนด้วยระบบ AI เก็บข้อมูลไว้ใช้ในการเรียน และมีกระดานออนไลน์อัจริยะ VDO Call , Chatblog , ระบบรับ-ส่งไฟล์ระหว่างเรียนให้บริการอีกด้วย ที่สำคัญเป็นระบบที่มีการบริหารจัดการและการแจ้งเตือนงานวิชาการเข้ามาอำนวยความสะดวกตลอดการเรียนการสอน และ 5.168 ติวเตอร์ออนไลน์ สถาบันที่มีคอร์สเรียนออนไลน์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ควบคุมโดย ด้วยระบบ AI technology ที่สามารถแปรผันตามศักยภาพของผู้เรียน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่1 – 6 รวมถึงคอร์สสำหรับการเตรียมตัวสอบเข้าเรียนในระดับเตรียมอุดมศึกษาและระดับอุดมศึกษา หรือผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเฉพาะเรื่องได้ ไม่จำกัดเวลา เรียนซ้ำกี่ครั้งก็ได้ นอกจากนี้ผู้เรียนสามารถเลือกที่จะเรียนกับผู้สอนได้ตามความต้องการถึง 3 ระดับ คือ จากผู้สอนที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ผู้สอนที่เป็นอาจารย์ในโรงเรียนดัง และจากติวเตอร์ชื่อดัง

“สำหรับความร่วมมือระหว่างในการจัดการศึกษาออนไลน์ในครั้งนี้ ขอขอบคุณ และขอชื่นชมผู้บริหาร สช. ผู้บริหาร สถานศึกษาเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่เสียสละและร่วมฝ่าวิกฤตเพื่อการศึกษาของลูกหลานเราในครั้งนี้ เพราะถือว่าเป็นการเปิดให้ผู้เรียนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาฟรีถึงบ้าน ด้วยความปลอดภัย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะขณะนี้เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 และการประกาศปิดสถานศึกษาทั่วประเทศส่งผลกระทบให้เด็กและเยาวชนอาจไม่เข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอน ดังนั้นเราจึงมีความมุ่งมั่นและคาดหวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเติมเต็มให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และซ่อมเสริมอย่างเต็มที่ แม้จะต้องนั่งเรียนอยู่ที่บ้าน ซึ่งตอนนี้มีโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านการเรียนการสอนออนไลน์เริ่มแจ้งความประสงค์ในการเข้าร่วมโครงการนี้อีกจำนวนมาก” นางกนกวรรณ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image