นายกฯ เอกชนโอด ร.ร.ขาดรายได้ จำใจลด ‘พนง.-จ่ายเงินเดือนครูครึ่งเดียว’ วอนรัฐพักชำระหนี้

นายกฯ เอกชนโอด ร.ร.ขาดรายได้ จำใจลด ‘พนง.-จ่ายเงินเดือนครูครึ่งเดียว’ วอนรัฐพักชำระหนี้

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับโรงเรียนเอกชนอย่างมาก เนื่องจากต้องเลื่อนการรับนักเรียนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีบางโรงเรียนที่เปิดรับนักเรียนไปแล้ว แต่ต้องเลื่อนการรับออกไป หรือโรงเรียนบางแห่งเปิดรับนักเรียนแล้ว แต่ผู้ปกครองไม่มีเงินจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนได้ เนื่องจากประสบปัญหาการเงิน ทำให้โรงเรียนแบกภาระส่วนนี้อย่างมาก ซึ่งการเลื่อนรับนักเรียนครั้งนี้ ไม่ทราบว่าจะต้องเลื่อนไปถึงเมื่อใด ทำให้โรงเรียนไม่สามารถหาเงินมาพัฒนาโรงเรียนในช่วงนี้ได้ทัน โดยเฉพาะการปรับปรุงโรงเรียน หรือซื้ออุปกรณ์การเรียน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียน ก็ไม่สามารถทำได้ และช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียน ส่วนมากโรงเรียนจะจัดกิจกรรมซัมเมอร์ แคมป์ เพื่อหารายได้มาเป็นใช้จ่ายภายในโรงเรียน จ่ายเงินเดือนครู หรือพนักงานในโรงเรียน ก็ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ เพราะจำเป็นต้องงด เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19

นายศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาครัฐนั้น ยังไม่มีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น ซึ่งทราบว่านายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ทราบปัญหา และกำลังหาทางช่วยเหลือ เบื้องต้นทางโรงเรียนได้จัดการแก้ไขปัญหา เช่น โรงเรียนบางแห่งให้พนักงานหยุดทำงาน ทำให้บางคนตกงาน หรือจ่ายเงินเดือนให้ครูเพียงครึ่งเดือน เพื่อให้โรงเรียนรอดจากวิกฤตนี้

“ไม่รู้ว่าโรงเรียนจะเปิดเรียนได้ช่วงไหน ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จะเกิดผลกระทบอย่างมากต่อโรงเรียนเอกชน เพราะโรงเรียนทุกแห่งมีรายจ่าย แต่ไม่มีรายได้เข้ามา ทางโรงเรียนยังคงจ่ายเงินเดือนครูเท่าที่รัฐให้เงินอุดหนุนมา ถ้าจ่ายไม่ไหว เพราะไม่มีเงินส่วนอื่นเข้ามา อาจจะต้องเลิกจ้างลูกจ้างบางราย ทั้งนี้ โรงเรียนเอกชนไม่ได้เรียกร้องให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ เพราะรู้ว่ารัฐรับภาระอยู่มาก แต่อยากให้ช่วยเหลือในระยะยาวด้วย เช่น โรงเรียนเอกชนที่กู้เงินจากสถาบันการเงิน อยากให้รัฐหามาตรการช่วยพักชำระหนี้ และอยากให้ดูแลบุคลากรที่ต้องตกงาน แม้โรงเรียนอยากจะจ้าง แต่รับภาระไม่ไหว อาจจะสนับสนุนงบประมาณวันละ 200-300 บาท เพื่อจ้างบุคคลเหล่านี้ให้มีงานทำต่อไป เป็นต้น” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

นายศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งเตรียมสอนทางออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่ให้นักเรียนออกนอกบ้าน แต่อยากให้รัฐช่วยสนับสนุนการสอนออนไลน์ด้วย เพราะนักเรียนบางคนในโรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชน ไม่มีอุปกรณ์ใช้สำหรับเรียนออนไลน์ ดังนั้น ควรจัดแท็บเล็ตให้นักเรียนที่ขาดแคลน เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาอย่างรวดเร็วด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image