สัตวแพทย์จุฬาฯ รณรงค์ลดความเสี่ยงติดโควิด-19 ในสัตว์

คณบดีสัตวแพทย์จุฬาฯ แนะวิธีลดความเสี่ยงติดโควิด-19 ในสัตว์

โควิด-19 ในสัตว์ – ศ.น.สพ.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากข่าวการพบเชื้อไวรัสที่ก่อเชื้อโควิด-19 ในสุนัขที่ฮ่องกงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และล่าสุดพบในแมวที่ประเทศเบลเยียมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ทำให้คนรักสัตว์เริ่มวิตกกังวลว่าสัตว์เลี้ยงตัวโปรดมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 และอาจเป็นพาหะนำเชื้อสู่คนได้นั้น

อนุมานได้ว่าเจ้าของที่ป่วยจากโรคโควิด-19 ไปมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง เมื่อมีการสัมผัส ปริมาณไวรัสในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีไวรัสบางส่วนเล็ดลอดเข้าไปเกาะติดกับเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหารของสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ ในสัตว์ดังกล่าวอาจมีตัวรับ (receptors) บางตำแหน่งที่เอื้อให้ไวรัสมาเกาะติดได้

“ข้อมูลในปัจจุบัน สุนัขไม่แสดงอาการป่วยแต่อย่างใด แต่พบปริมาณไวรัสในระดับต่ำ และพบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในสุนัขดังกล่าว ส่วนในแมวมีอาการป่วยทั้งระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร รวมทั้ง ตรวจพบไวรัสก่อโรคในอาเจียน และในมูลแมว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากสัตว์เลี้ยงสู่มนุษย์” ศ.น.สพ.รุ่งโรจน์ กล่าว

Advertisement

ศ.น.สพ.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า การรณรงค์ลดความเสี่ยงของการติดโรคโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยง และปศุสัตว์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ได้แนะข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรหลีกเลี่ยงพาสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้าน หากสัตว์เลี้ยงหลุดออกนอกบ้าน การอาบน้ำสามารถลดการปนเปื้อนตามตัวสัตว์ได้ หากท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง

สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสโรค ควรกักไว้ในกรงที่บ้านเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยใช้ข้อปฏิบัติเช่นเดียวกับในคนกลุ่มเสี่ยง หากสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงสัมผัสโรค หรือมีอาการที่เข้าข่ายของโรค ให้โทรศัพท์สอบถามสัตวแพทย์ ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงมาโรงพยาบาลสัตว์ หากสัตว์เลี้ยงที่สัมผัสโรคเสียชีวิต ให้แจ้ง สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในท้องที่

Advertisement

“สำหรับเจ้าของฟาร์มสัตว์เลี้ยง ควรมีมาตรการคัดกรองพนักงานที่ปฏิบัติงานในฟาร์ม โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับสัตว์อย่างเข้มงวดตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ พนักงานที่มีความเสี่ยงควรหยุดพักงานตามระเบียบ พนักงานที่ปฏิบัติงานในฟาร์มต้องมีการอาบน้ำ ฆ่าเชื้อ และเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนเข้าฟาร์มทุกครั้งตามมาตรฐานฟาร์ม ควรสวมใส่หน้ากากผ้า และถุงมือหากต้องสัมผัสสัตว์ หากพบอัตราการป่วย อัตราการตายที่ผิดปกติ ให้แจ้งสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มโดยด่วน” ศ.น.สพ.รุ่งโรจน์ กล่าว

รศ.สพ.ญ.รสมา ภู่สุนทรธรรม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สัตว์เลี้ยงหลายชนิดสามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเชื้อไวรัสโคโรน่าที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์เลี้ยงปัจจุบัน จะมีความจำเพาะของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเฉพาะในสุนัข และแมวเท่านั้น เชื้อดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดโรคในคน จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข หรือแมว สามารถแพร่โรคโควิด-19 สู่คน ในทางตรงข้าม การติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงทั้งหมดเกิดจากการแพร่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 จากผู้ป่วยสู่สัตว์เลี้ยงทั้งสิ้น

“ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรดูแลเรื่องความสะอาด และสุขลักษณะ โดยล้างมือก่อน และหลัง ให้อาหาร และน้ำ เวลาจับอุปกรณ์ หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงควรล้างมือทุกครั้ง ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร และน้ำ ตลอดจนบริเวณที่เลี้ยงสัตว์เป็นประจำ เมื่อพบความผิดปกติเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง ต้องปรึกษาสัตวแพทย์ทันทีเพื่อรับคำแนะนำ ขอย้ำว่าไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงที่สงสัยว่าสัมผัสเชื้อโควิด-19 มาพบสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลสัตว์ แต่ให้ขังไว้ในกรงเพื่อเฝ้าระวังอาการเท่านั้น นอกจากนี้ หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงสงสัย หรือมีอาการป่วยด้วยเชื้อโควิด-19 ต้องห้ามเล่น สัมผัส หรือใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง กักตัวอยู่แต่ในบ้าน และกักบริเวณสัตว์เลี้ยงไม่ให้ออกนอกบ้าน ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ก่อโรคจากคนสู่สัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี” สพ.ญ.รสมา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image