ผ่าแผน ศธ. สู้ ‘โควิด’ รับมือ…สารพัดโรคเลื่อน ‘สอบครู-รับเด็ก’

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 กระทบไปทุกภาคส่วน หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน จัดระบบ working from home หรือ WFH ลดจำนวนคนที่จะมารวมตัวในออฟฟิตให้เหลือน้อยที่สุด

ขณะที่วงการแม่พิมพ์ ก็เจอสารพัดโรคเลื่อนไม่มีกำหนด โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เลื่อนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา เพื่อแทนตำแหน่งว่าง จำนวน 4,647 อัตรา

นอกจากนี้เลื่อนการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสพฐ.ซึ่งเดิมจะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนเมษายนนี้

ทั้งที่อั้น ไม่เปิดสอบมานานกว่า 2 ปี แต่ก็จำต้องเลื่อน!!

Advertisement

ส่งผลให้ตอนนี้สพฐ.ขาดทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค(2) ที่เตรียมจะเปิดสอบตามกันมาอีกจำนวนมาก
ขณะเดียวกันยังต้องเลื่อนการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และม.4 ซึ่งกำหนดการเดิมจะมีการสมัครและสอบในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ออกไปไม่มีกำหนด ไม่เท่านั้นยังจ่อเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่หลังการสอบรับนักเรียนแล้ว จะเปิดเทอมในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ของทุกปี

ยังไม่นับรวมโครงการอบรมครูต่าง ๆ ที่ต้องเลื่อนออกไปทั่วประเทศ!!

นอกจากนี้ยังมีการปรับระบบการยื่นคำร้องขอใบสำคัญทางการศึกษา ได้แก่ การขอใบเทียบวุฒิการศึกษาต่างประเทศ การขอใบเทียบวุฒิการศึกษาในประเทศ(เปรียญธรรม 5 ประโยค) การขอใบแทนใบเทียบวุฒิการศึกษา การขอหนังสือรับรองวุฒิการศึกษาเปรียญธรรม 5/เปรียญธรรม 6 ประโยค เป็นภาษาอังกฤษ และการขอใบแทนประกาศนียบัตร เฉพาะส่วนกลาง

Advertisement

ซึ่งโดยปกติผู้รับบริการต้องติดต่อยื่นคำร้องด้วยตนเอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สัมภาษณ์ หรือชักประวัติการศึกษาก่อนการดำเนินการออกเอกสาร เปลี่ยนมาเป็นยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์ ขณะที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เปิดให้พิมพ์ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ฯลฯ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็ปั่นป่วนไม่แพ้กัน โดยล่าสุด สอศ.ได้ประกาศเลื่อนการประเมิน เพื่อคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาซึ่งว่างอยู่ 256 อัตรา ออกไปก่อน ทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาค ก สมรรถนะในการบริหารงานในหน้าที่ ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ และภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง ออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลาย

งานนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) งัดสารพัดวิธี ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงวิกฤต เน้นให้โรงเรียนเตรียมพร้อมในการสอนออนไลน์ ให้ข้าราชการสลับเวรทำงานที่บ้าน สั่งปิดโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ

และล่าสุดเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณางดเว้นไม่เก็บค่าหน่วยกิตของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทั้งสถาบันการอาชีวศึกษาในสังกัดของรัฐบาลและเอกชน จำนวนกว่า 350,000 คน ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป ซึ่งรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบทดแทนการงดเว้นค่าหน่วยกิตดังกล่าว ภาคเรียนละ 2,500 บาทต่อคน ปีการศึกษาละ 5,000 บาทต่อคน เป็นเงินรวมกว่า 1,700 ล้านบาท

ขณะที่สพฐ. อยู่ระหว่างดูข้อมูล เพื่อวางแผนจัดทำหลักสูตรออนไลน์ภายในต้นเดือนเมษายน ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด ให้ทันก่อนเปิดเทอม สำรวจอุปกรณ์รองรับการเรียนการสอนทางออนไลน์ ซึ่งยังมีข้อกังวลว่าอาจจะมีไม่เพียงพอ

โดย นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. เองไม่ได้นิ่งนอนใจ ระบบต่าง ๆ ต้องปรับตามสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของทุกคน โดยได้เร่งเตรียมแผนรองรับการเลื่อนรับสมัครบุคลากรในส่วนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการ เบื้องต้นตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียน แม้จะยังคัดเลือกไม่ได้ ก็คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะมีผู้อำนวยโรงเรียน ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ที่ผ่านมาที่เร่งดำเนินการเพราะต้องการให้มีผู้บริหารครบก่อนเปิดภาคเรียนเท่านั้น

ส่วนการสอบครูผู้ช่วย ภาพรวมยังกระทบไม่มาก เพราะบัญชีเดิมยังไม่หมดอายุ อีกทั้งยังสามารถขอบรรจุข้ามจังหวัดได้ กรณีที่บัญชีในจังหวัดไม่มีผู้สอบขึ้นบัญชีในวิชาเอกที่ต้องการ สพฐ. ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ใช้หลักบริหารจัดการ เรื่องบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพไปก่อน จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะคลี่คลาย

สำหรับการสมัครรับนักเรียนม.1 และม.4 นั้น สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยวันที่ 30 มีนาคมนี้ จะนัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์ หากคลี่คลายเร็ว ก็จะเร่งจัดสอบให้ได้ภายหลังสงกรานต์ เพื่อให้สามารถเปิดเทอมได้ตามปกติ

ทั้งนี้มีโรงเรียนที่กระทบจริง ๆ เพียง 200 กว่าโรงเรียนที่ต้องเปิดรับสมัครและสอบ เบื้องต้นจะให้สมัครสอบผ่านระบบออนไลน์ หากใครไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ค่อยประสานโดยตรงไปที่โรงเรียน ส่วนการสอบจะเป็นแนวทางใดนั้น สพฐ.เองยังไม่สามารถบอกได้ ขอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นมาตรการที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กๆ

เห็นทีบุคลากรทางการศึกษา ทั้งกลุ่มที่เตรียมตัวสอบ กลุ่มที่ต้องปรับการทำงาน ไปจนถึงผู้ปกครองที่บุตรหลานเตรียมจะสอบเข้าเรียนม.1 และม.4 คงต้องติดตามความคืบหน้าจากหน่วยงานอย่างใกล้ชิด
ที่สำคัญคงต้องใจเย็นที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเครียด เพราะนาทีนี้ เรื่องสำคัญที่สุดคือ รักษาสุขภาพ ลดภาวะเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image