ฝ่าวิกฤต ‘โควิด-19’ ลุ้น สพฐ.สอนผ่าน ‘ออนไลน์’ ฉลุย หรือคว้าน้ำเหลว??

ฝ่าวิกฤต ‘โควิด-19’ ลุ้น สพฐ.สอนผ่าน ‘ออนไลน์’ ฉลุย หรือคว้าน้ำเหลว??
ฝ่าวิกฤต ‘โควิด-19’ – ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายไปง่ายๆ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 โดยรัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้มาตรการ Social distancing รักษาระยะห่างทางสังคม ลดการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน เช่น การพูดคุย และการสัมผัส จำกัดการรวมตัวของกลุ่มคนในสถานที่ต่างๆ เพื่อลดการกระจายของเชื้อโรค

โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามประชาชนที่ไม่ได้มีความจำเป็นออกจากบ้านในช่วงเวลา 22.00-04.00 น.ของทุกวัน

ทั้งนี้ ภาคการศึกษา ทั้งระดับอุดมศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว หันมาจัดการเรียนการสอนผ่าน “ออนไลน์” แทนการสอนในห้องเรียน และการทำงานผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มในรูปแบบต่างๆ

ในส่วนของอุดมศึกษา ภาพรวมการเรียนออนไลน์ ไม่น่าจะกระทบกับคุณภาพ เพราะส่วนใหญ่เตรียมพร้อม ปรับตัวก้าวสู่การเรียนการสอนยุคดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่เข้ามาแทนการเรียนแบบเลคเชอร์ในห้องเรียนไปมากพอสมควร

ขณะที่ระดับ “การศึกษาขั้นพื้นฐาน” นั้น ต้องยอมรับว่า การเรียนผ่านออนไลน์ ยังไม่มีการเตรียมพร้อมเท่าที่ควร และการส่งสัญญาณก็มีปัญหาตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ทั้งหลักสูตรที่ต้องปรับค่อนข้างมาก การปรับตัวของครูผู้สอน ที่สำคัญ คือความพร้อมของผู้เรียน ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ ทั้งอุปกรณ์การเรียน อินเตอร์เน็ต และความพร้อมของผู้ปกครองในการดูแลบุตรให้สามารถเรียนรู้ตามหลักสูตรได้อย่างมีคุณภาพ …

Advertisement

นักวิชาการด้านการศึกษาอย่าง นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อกังวลว่า การเรียนการสอนผ่านออนไลน์ของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเกิดปัญหา เพราะนโยบายการเรียนการสอนออนไลน์ของ ศธ.ไม่เป็นเอกภาพ ขาดการพูดคุยหารือกัน อีกทั้ง จะพบปัญหาในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีโอกาสเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ยาก

นอกจากนี้ จากที่ได้ลงพื้นที่ในโรงเรียนห่างไกล พบว่าโรงเรียนเกือบ 80% มีเครื่องมือที่รองรับการสอนทางออนไลน์อยู่ในสภาพที่ใช้ไม่ได้ เช่น โรงเรียนแห่งหนึ่งมีคอมพิวเตอร์ 15 เครื่อง แต่พร้อมใช้งานจริงเพียง 2 เครื่อง เพราะคอมพิวเตอร์หมดอายุการใช้งาน และไม่มีงบประมาณในการดูแลรักษา และไวไฟ หรืออินเตอร์เน็ตของโรงเรียนไม่เสถียร เมื่อโรงเรียนไม่มีอุปกรณ์รองรับ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ขณะที่ครูจำนวนมากเป็นผู้มีอายุ ไม่คุ้นเคยกับการสอนออนไลน์

“การเรียนผ่านออนไลน์ ต้องคิดให้ดี การเรียนการสอนควรจะกระจายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ กระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ของตน ย่อระบบราชการให้เล็กลง ให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดูแล และเตรียมการสอนออนไลน์ เพราะแต่ละจังหวัดจะทราบบริบทปัญหา ข้อจำกัดของตนอย่างดี ว่ามีโรงเรียนเท่าใด ควรจะจัดการศึกษาอย่างไร แต่ถ้าสั่งการจากกระทรวงโดยตรงว่าจะต้องสอนออนไลน์อย่างไรนั้น ไม่สามารถทำได้แน่” นายสมพงษ์ กล่าว

Advertisement

น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า กว่า 90% ของโรงเรียนสังกัด สพฐ.ยังไม่พร้อมจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ โดยเฉพาะในโรงเรียนชนบท ห่างไกล ซึ่งบางโรงเรียนไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าใช้ ดังนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงระบบอินเตอร์เน็ต

ขณะที่ปัจจัยสำคัญอย่างตัวครูเองก็ไม่มีความพร้อม ช่วงอายุของเด็กที่ยังเล็กเกินไป ส่วนผู้ปกครองบางครอบครัว ก็อาจไม่สามารถให้คำแนะนำกับเด็กได้ อุปกรณ์อย่างโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ก็ไม่ได้มีพร้อมทุกคน

ดังนั้น จึงเสนอให้ สพฐ.เลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป ซึ่งภายในเดือนเมษายนนี้ จะสามารถประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ว่าจะระบาดต่อเนื่องหรือไม่

“สพฐ.อาจใช้วิธีขยับเปิดเทอมออกไปครั้งละเดือน ซึ่ง สพฐ.สามารถปิดเทอมยาวได้มากสุดถึง 5 เดือน เท่ากับช่วงเวลาปิดเทอมตามเดิม เพียงแต่มาปิดติดกันต่อเนื่อง และหลังจากเปิดเทอมแล้ว ก็เรียนยาว โดยไม่มีพักปิดเทอมอีก เพื่อให้เด็กได้เรียนเต็มที่” น.ท.สุมิตร กล่าว

น.ท.สุมิตร กล่าวอีกว่า ส่วนการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ของระดับอุดมศึกษานั้น ไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่จะเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน ขณะที่บางแห่งยังเปิดภาคเรียนตามอาเซียน ซึ่งยังพอมีเวลา อีกทั้ง ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความพร้อมสอนผ่านออนไลน์อยู่แล้ว

ด้าน นายณัฐฏพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมการเรียนในช่วงวิกฤตนี้ว่า ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอช่องทีวีดิจิทัลมาใช้จัดการเรียนการสอนให้แก่กลุ่มนักเรียนระดับอนุบาล ประถม และมัธยมต้น ส่วนนักเรียนระดับชั้น ม.4-ม.6 ให้สามารถเลือกเรียนรู้เนื้อหาการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มของ สพฐ.บนช่องทาง Obec Channel

“ขอย้ำว่าการจัดการศึกษาออนไลน์นี้ เป็นมาตรการป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วงนี้เท่านั้น ไม่ได้นำการจัดการศึกษาผ่านออนไลน์มาใช้เรียนรู้ทั้งหมดทุกภาคเรียน โดยการเรียนในห้องเรียนกับครูผู้สอนยังมีความจำเป็น สำหรับการเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาออนไลน์ ได้วางแผนพัฒนาครู ด้วยการควบรวมโรงเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้เรียนรู้การสอนผ่านออนไลน์ และการใช้เทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าหากทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมจะเป็นการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน” นายณัฏฐพล กล่าวทิ้งท้าย

นาทีนี้คงต้องเอาใจช่วยให้ทุกภาคส่วน ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ทุกข้อเสนอจึงมีความหมาย เชื่อว่า ศธ.จะเลือกวิธีที่ดีสุด เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต จะรุ่ง หรือร่วง ก็ต้องให้กำลังใจ เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้ เข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image