ชำแหละ “แท็บเล็ต” ยุค “บิ๊กตู่” เรียนออนไลน์ รับมือ “โควิด”

3 นักวิชาการชำแหละ “แท็บเล็ต” ยุค “บิ๊กตู่” ในการเรียนออนไลน์ รับมือ “โควิด”

หมายเหตุ มติชน – กรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เสนอเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากเดิมจะเปิดเทอมวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่าน : ครม.ไฟเขียว ‘ศธ.’ เลื่อนเปิดเทอม 1 ก.ค. เตรียมจัดงบซื้อแท็บเล็ตแจก น.ร. เรียนออนไลน์ที่บ้าน
อ่าน : สพฐ.มั่นใจเลื่อนเปิดเทอมไม่กระทบ เล็งทำหนังสือแจงอว. ขยับสอบเข้ามหา’ลัยปี64

ศธ.ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จึงเตรียมความพร้อมให้เด็กเรียนออนไลน์ในช่วงปิดภาคเรียนซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 2 เดือน โดยศธ.จะเริ่มปล่อยหลักสูตรการเรียนการสอนในช่องทีวี ที่ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 13 ช่อง
พร้อมกันนี้ต้องพิจารณาจัดซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียน เพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์ ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. เตรียมศึกษาข้อมูลการบริหารจัดการงบประมาณของศธ.ที่มีโดยไม่ของบเพิ่มในการจัดซื้อ
“มติชน” จึงสอบถามนักวิชาการต่อแนวนโยบายดังกล่าวว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่อการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไร มีความคุ้มค่าในการดำเนินการหรือไม่ รวมถึงควรมีข้อพึงระวังอย่างไรบ้าง

 

Advertisement
สมพงษ์ จิตระดับ

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“การเลื่อนเปิดเทอมออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคมนั้น ผมเห็นด้วย เพราะไม่รู้เลยว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เป็นสิทธิของเด็กที่รัฐบาลต้องดูแล ส่วนการจัดซื้อแท็บเล็ตเพื่อให้เด็กใช้เรียนออนไลน์นั้น ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง มองว่าแท็บเล็ตน่าจะเป็นกระบวนการสุดท้ายที่จะมาใช้ในการเรียนการสอน เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่า การใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอน เป็นเรื่องที่สูญเปล่า และไม่คุ้มค่ามากที่สุด

ซึ่งในช่วงนั้นก็มีการท้วงติง แต่สุดท้ายรัฐบาลในขณะนั้นก็เดินหน้าจัดซื้อ ใช้ได้เพียง 1 ปี สุดท้ายแท็บเล็ตก็กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานไม่ได้ ชาร์จไฟไม่เข้า ที่สำคัญระบบอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยโรงเรียนขนาดเล็ก กว่า 1.5 หมื่นโรงเรียน เกือบ 100% ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ บางแห่งอินเทอร์เน็ตเข้าถึง แต่ก็ยังไม่มีความเสถียร และหากลงไปตามบ้าน ครอบครัวขนาดกลางอาจสามารถซื้ออินเทอร์เน็ตให้เด็กใช้ได้ แต่สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยเป็นเรื่องยากที่จะสามารถทำได้

เพราะฉะนั้น การจัดซื้อแท็บเล็ตในช่วงนี้ ต้องระวังเป็นพิเศษ พอมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา คนในวงการศึกษาเองก็ตั้งคำถาม เพราะสังคมยังไม่คลายกังวลกับโครงการจัดซื้อแท็บเล็ตที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องทำอย่างโปร่งใส เท่าที่ทราบตอนนี้เริ่มมีกลิ่นคนกลุ่มเดิม ๆกลับเข้ามาทำเรื่องนี้ ซึ่งหากจะต้องทำกันจริง ๆ ก็อยากให้หาคนนอกจากหน่วยงานตรวจสอบที่น่าเชื่อถือเข้ามาช่วยกำกับดูแลไม่ให้เกิดปัญหาความไม่โปร่งใส

ทั้งนี้หากเป็นไปได้ผมอยากให้ดูเรื่องนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และทางที่ดีอยากให้ลองมองช่องทางอื่นให้เด็กได้เรียนรู้ ผมเห็นด้วยกับการขอช่องทีวีให้เด็กได้เรียนรู้อยู่บ้าน เพราะทีวีสามารถเข้าถึงได้ทุกบ้าน ทุกครัวเรือน จากนั้นส่งเสริมครูใน 3 มิติ คือครูพ่อแม่ ครูชุมชน และครูโรงเรียน ร่วมกันส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ในลักษณะโฮมสคูล เมื่อเปิดเทอมกลับมาเรียนตามปกติ ก็ให้เด็กได้เรียนวิชาการกับครูผู้สอนในโรงเรียนอย่างเต็มที่”

 

อดิศร เนาวนนท์

นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.)

“การจัดซื้อแท็บเล็ตในช่วงนี้ต้องถามก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะนโยบายนี้เคยทำมาแล้วสมัยหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสาระสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่ฮาร์ดแวร์ ปัญหาสำคัญคือ เด็กยังไม่มีทักษะในการเรียนรู้การใช้แท็บเล็ตในการเรียนผ่านระบบออนไลน์

ขณะที่ระบบอินเทอร์เน็ต ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นอยากให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. คิดให้ดี เพราะเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนสูง สังคมอาจเกิดความสงสัย จะมองไม่ดี กลายเป็นเรื่องฉวยโอกาสใช้ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 มาดำเนินการเรื่องนี้ ทั้งที่การเรียนในระบบออฟไลน์ อย่างให้เด็กเรียนผ่านช่องทีวี ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้เด็กได้ทบทวนบทเรียน เมื่อเปิดเทอมเต็มที่แล้ว ก็ให้ครูสอนเพิ่มเติมอย่างเข้มข้น เพื่อให้เด็กได้รับความรู้อย่างเต็มที่”

 

สุมิตร สุวรรณ

น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน

“ผมไม่เห็นด้วยที่จะจัดซื้อแท็บเล็ต เพราะที่ผ่านมาเราเคยแจกแล้ว แต่โรงเรียนหลายแห่งรวมทั้งตัวเด็กเองก็ยังไม่มีความพร้อม บางโรงเรียนขาดอุปกรณ์ เช่น สายไฟ ปลั๊กไฟ มีแท็บเล็ตแต่ไม่สามารถเสียบชาร์จได้ ดังนั้นจึงมองว่า การซื้อแท็บเล็ตแจกเด็กอาจไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ขณะที่ผู้ปกครองเองก็ไม่มีความรู้ในการใช้แท็บเล็ต และไม่มีเวลามาดูแลบุตรหลาน

ดังนั้นจึงไม่เกิดประโยชน์ อีกทั้งโรงเรียนในประเทศไทยเกินครึ่งเป็นโรงเรียนในชนบท ซึ่งยังไม่มีความพร้อมในหลายส่วน ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสาร อินเทอร์เน็ต หรือกระทั่งบ้านเด็กบางบ้าน ไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้าใช้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องจริง แม้จะไม่น่าเชื่อ การที่ศธ. เตรียมจะจัดซื้อแท็บเล็ตครั้งนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ที่สำคัญอาจนำไปสู่การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งที่ขณะนี้ควรนำงบประมาณไปรวมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและดูแลสุขภาพของประชาชนมากกว่า

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การเตรียมความพร้อมครู ซึ่งตามจริงไม่จำเป็นต้องเรียนออนไลน์ทุกวิชา อาจมีเรียนออนไลน์เสริมบ้างในบางวิชา และหากต้องการจะแจกแท็บเล็ตจริง ควรแจกให้กับครู เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการเตรียมพร้อมสอนออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องแจกให้เด็กทุกคน และไม่จำเป็นต้องให้เรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ ให้แด็กได้ทบทวนความรู้ผ่านช่องทางทีวี เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมความรู้

ประกอบกับใช้โอกาสนี้ให้เด็กได้ฝึกประสบการณ์ชีวิต เรียนรู้กับชุมชน ครอบครัว อย่างเช่น เด็กโตก็ให้เรียนรู้การฝึกอาชีพ ช่วยพ่อแม่ ทำงาน อย่างเกษตรกรรม ช่างเครื่อง ช่างยนต์ ให้เกิดประโยชน์ เป็นการฝึกประสบการณ์ชีวิต เมื่อถึงเวลาเปิดเทอม ค่อนเรียนรู้วิชาการจากครูในโรงเรียนยอย่างเต็มที่ ซึ่งตอนนี้คิดว่า เรายังพอมีเวลาพอสมควรจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image