34 มหา’ลัยกลุ่ม ทปอ.ผุดมาตรการเยียวยา น.ศ.กว่า 4 พันล้านบ.

34 มหา’ลัยกลุ่ม ทปอ.ผุดมาตรการเยียวยา น.ศ.กว่า 4,000 ล้านบ.

เยียวยา – เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ในสภาวะวิกฤตสู้ภัยโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น

ทปอ.ที่ประกอบด้วยสมาชิกสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในเครือข่าย จำนวน 34 แห่ง ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน จึงมีมติร่วมกันในการจัดมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในระบบอุดมศึกษาให้ครอบคลุมทุกมิติ เน้นการช่วยเหลือกลุ่มนิสิตนักศึกษา ผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก

ด้วยการพิจารณาจัดตั้งกองทุนการศึกษา กองทุนช่วยเหลือการจ้างงาน การช่วยเหลือค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมทั้งให้การสนับสนุนอื่นๆ ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การจัดหาซิมการ์ดราคาถูก การส่งจิตอาสาแบ่งปันของและน้ำใจให้ชุมชน การเร่งสร้างโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักกัน รองรับจำนวนผู้เสี่ยงการติดเชื้อ และช่วยเหลือบุคคลที่ประกอบอาชีพต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษา

นายสุชัชวีร์กล่าวต่อว่า ทปอ.ตระหนักดีว่ามาตรการเยียวยาที่ได้กำหนดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงแต่อย่างใด แต่ ทปอ.ต้องการช่วยแบ่งเบาภาระที่เราทุกคนต้องผชิญครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยงบประมาณรวมกันทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ไม่นับรวมการผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สถาบันอุดมศึกษาได้เร่งระดมสรรพกำลังในการช่วยเหลือสังคมอย่างเร่งด่วนด้วยอีกจำนวนหนึ่งทั้งนี้เพื่อให้นิสิต ดังที่เราทุกคนตั้งมั่นตั้งใจร่วมใจว่านักศึกษาและประชาชนชาวไทยได้มีกำลังใจผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

Advertisement

นายสุชัชวีร์กล่าวต่ออีกว่า สำหรับมาตรการเยียวยาของสถาบันอุดมศึกษา ทปอ. ดังนี้

1.สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการปรับลดงบประมาณของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการเยียวยาสังคมใน ภาพรวม ใช้งบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท และงบประมาณบางส่วนของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ประมาณ 500 ล้านบาท

2.การช่วยเหลือค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 และ 2 ปีการศึกษา 2563 สำหรับหลักสูตรปกติ ใช้งบประมาณจำนวน 2,000 ล้านบาท รวมทั้งการผ่อนผันการชำระ ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ทั้งนี้การบริหารจัดการจะเป็นรูปแบบใดเพื่อช่วยในการเยียวยาและมุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายนิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยที่จะพิจารณา

Advertisement

3.การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ ให้มีประสิทธิภาพใช้งบประมาณจำนวน 500 ล้านบาท

4.การจัดตั้งกองทุนมหาวิทยาลัยเพื่อเยียวยานิสิตนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือการจ้างงาน การหางานสำหรับผู้สำเร็จการศึกษา ใช้งบประมาณจำนวน 400 ล้านบาท

5.การสนับสนุนปรับลดค่าธรรมเนียมสนับสนุนการศึกษาต่างๆ เช่นค่าธรรมเนียมหอพัก ค่าธรรมเนียมการรักษาสภาพ การทำประกันภัย โควิด-19 ใช้งบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท และ 6.การเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคม ใช้งบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท

“ภารกิจของอุดมศึกษาคงไม่ได้มีแค่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายภายในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น สถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย ทปอ.ยังตระหนักถึงความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทยในสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่ สถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่หลายแห่งทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคได้ใช้โรงพยาบาลในสังกัดให้บริการคัดกรอง ตรวจเชื้อ และรักษาผู้ป่วย ผู้เสี่ยงติดเชื้อร่วมกับโรงพยาบาล ภาครัฐตั้งแต่เกิดสถานการณ์มาโดยตลอด การส่งนิสิตนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมเป็นจิตอาสาทั้ง ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชุมชนโดยรอบ แจกจ่ายอุปกรณ์จำเป็น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย การให้ความรู้ในการดูแลตนเองปละครอบครัว และที่สำคัญสถาบันอุดมศึกษายังใช้องค์ความรู้ในการเร่งเร่งระดมสรรพกำลังคิดค้นสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ในสภาวะที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤตพร้อมกัน โดยที่บุคลากรทุกภาคส่วนเร่งประดิษฐ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ให้แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ผู้เสี่ยงติดเชื้อ ให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอในภาวะขาดแคลน สามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย ทปอ. อีกจำนวน 19 แห่งที่มีความพร้อมในการใช้สถานที่เตรียมการสำหรับโรงพยาบาลสนามประมาณ 1,600 เตียง และสถานกักกันได้ประมาณ 1,200 คน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท” ประธาน ทปอ.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image