ภาษาในศตวรรษที่ 21 สร้างปัญญาความเป็นมนุษย์ที่ยั่งยืน

ภาษาในศตวรรษที่ 21 สร้างปัญญาความเป็นมนุษย์ที่ยั่งยืน

ภาษา เป็นนวัตกรรมที่มีความเป็นปรัชญา และศิลปะ ประกอบด้วย ตัวหมาย และสิ่งที่หมาย การฝึกใช้ภาษาในโลกสื่อสารสมัยใหม่มีความสำคัญ ผู้เขียนขอเสนอกระบวนทัศน์ 3 ประการ เพื่อสร้างความคิดปัญญา คือ การรู้ตัวบทภาษาและวรรณคดี การรู้ทฤษฎีวิจารณ์ และการสร้างตัวบท ดังต่อไปนี้

การรู้ตัวบทภาษาและวรรณคดี เกิดจากการอ่าน เช่น อ่านไตรภูมิกถา นิทานเวตาล ท้าวฮุ่งท้าวเจือง ลิลิตพระลอ หรือนวนิยาย สงครามและสันติภาพ ของ ลีโอ ตอลสตอย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ กาเบรียล การ์เซีย มาเกวซ การอ่านเป็นบ่อเกิดความรู้ สมาธิและปัญญา ทำให้เกิดความซาบซึ้งในรสวรรณคดี 2 ด้าน คือด้านองค์ประกอบภายในคือ ตัวละคร ฉาก และสถานที่ช่วงเวลา ประวัติศาสตร์ และสีสันความเป็นพื้นบ้านพื้นเมืองด้วย ด้านองค์ประกอบภายนอก คือบริบท และปัจจัยประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาที่ตัวบทเกิดขึ้น ตัวบทเป็นภาพจำลองสังคม และวิถีชีวิตที่เกิด และดำรงอยู่ในช่วงเวลานั้น

การรู้ทฤษฎีวิจารณ์ การวิจารณ์ คือการแสดงความคิดต่อเรื่องที่อ่าน โดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจคุณค่าด้านโวหาร และวรรณศิลป์ และคุณค่าทางสังคมของตัวบท แนวคิดทฤษฎีวิจารณ์ตัวบทวรรณคดี เป็นกระจกส่องความหมายตัวบทที่กวี หรือประพันธกรได้ผลิตขึ้น ทฤษฎีจึงเป็นเครื่องมือวัดระดับความคิดที่เป็นผลลัพธ์จากการอ่านตัวบท ซึ่งมี 2 ระดับคือ ระดับโครงสร้างพื้นผิว และระดับโครงสร้างลึก

การสร้างตัวบท ผู้เขียนเห็นว่า การเขียนเป็นสมาธิขั้นสูงของกระบวนสร้างปัญญา การเขียนหนังสือควรมีรากคิด 3 ประการ คือ (1) มีต้นทุนทางความคิด คือมีจิตสำนึกประวัติศาสตร์ เข้าใจชีวิต สังคม วัฒนธรรม การเมือ งและปรัชญาความเชื่อที่หลากหลาย เปรียบเสมือนรากเหง้าที่แข็งแรง (2) มีความสดสะพรั่ง คือภูมิหลังความคิดแรกเริ่มที่ยังไม่เผยตัวแจ่มชัด เมื่อเราได้อ่านตัวบทใหม่ๆ ภูมิหลังจะได้รับการกระตุ้นให้ผลิบาน (3) มีการแปรรูป หากต้นทุนทางความคิด คือ ข้อมูลพื้นฐาน ความสดสะพรั่งก็คือการวิเคราะห์ข้อมูล การแปรรูปก็คือ การสังเคราะห์ขึ้นใหม่จากการแปรรูปสิ่งที่มาจากการมีต้นทุนทางความคิด

Advertisement

จากรากคิดข้างต้น ทำให้เกิดกระบวนการสร้างสรรค์ภาษา ดังนี้

1.อัตลักษณ์ คือผลของการประมวลประสบการณ์ และจินตนาการ จะเขียนอย่างไร หรือตั้งคำถามอย่างไร เกิดตัวตน และทางของเรา คือ การต่อยอดทางความคิดที่มาจากการอ่าน สิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ ไม่ได้ช่วยให้เราเรียนรู้วิธีเลือกเขียน หรือเลือกเนื้อหาเท่านั้น แต่เป็นสิ่งนำทางเสกสร้างภาษาอีกด้วย เช่น การมองรัฐโบราณ มองการเมือง มองผ้าทอ ฟังดนตรี การมอง และฟังเช่นนี้ เรียกว่า มองแบบหยั่งลึก หรือสอดรู้สอดเห็น เป็นการมองเพื่อสร้างวิธีคิด เพื่อให้ได้ประเด็นคิด เป็นการตั้งใจทย์ โดยใช้อัตลักษณ์เป็นสิ่งเหนี่ยวนำ

2.โจทย์ กล่าวโดยง่าย การเห็นอัตลักษณ์ คือการเห็นโจทย์ แต่การรู้จักโจทย์อย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จักว่าโจทย์ที่ว่านั้น เป็นโจทย์แบบไหน มีพื้นฐานอะไรรองรับ นั่นคือ มีสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างไร คือจะต้องมองด้วยสายตาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองด้วยใจให้เห็นปรากฏการณ์หลัก และรอง มองให้เห็นความดี ความงาม ความจริง และความอัปลักษณ์ แล้วเราจะมองเห็นความลึกซึ้ง เรียกว่าแรงบันดาลใจ

3.การเชื่อมโยง คือ มองให้ลึกเข้าไปในความเป็นชีวิต มองเห็นปรากฏการณ์ มองให้ “เชื่อมโยง” สรรพสิ่ง ทั้งรูปธรรม และนามธรรม กล่าวคือ มองสิ่งนี้ เป็นไปแบบนั้น มีอะไรเป็นไป มีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรหายไป แล้วนำมาลำดับร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวเป็นเหตุเป็นผล

4.การจัดระเบียบ การจัดระเบียบคือ สภาวะการทบทวนหวนคิด การเปลี่ยนมุมมอง คิดใหม่ ตัดออก เพิ่มเข้า ขยายความ ย้ายที่ การเขียนโครงเรื่อง ทำได้ทั้งในระดับ ชื่อเรื่อง โครงเรื่อง พยางค์ วลี กลุ่มคำประโยค วรรค ย่อหน้า บท ตอน ภาค ต้นฉบับร่าง และหนังสือเล่ม

5.การรื้อสร้าง ไม่ว่าเราจะพูด หรือเขียน คือการรื้อสร้าง เป็นปรากฏการณ์ซ้ำๆ ในความคิด จนเป็นรูปร่างเหตุการณ์ เช่น จากหนึ่งไปสอง จากสองไปสาม หรือจากยิ้มไปหัวเราะ จากความสุขไปสู่ความทุกข์ จากความหิวไปสู่ความอิ่ม จากความงุนงงเป็นความเข้าใจ “การรื้อสร้างเป็นการค้นหาความหมายแฝงเร้น”

6.ว่าด้วยการตื่นรู้ การตื่นรู้ หมายถึงการรู้เท่าทันโลก และธรรมชาติ รู้ถึงสภาวะธาตุสี่ขันธ์ห้า รู้ตัวรู้ตน รู้จักรากเหง้า เช่น เราคือจอกแหน ส่วนพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และวัฒนธรรม คือน้ำ ถ้าไม่รักษาน้ำ ปล่อยให้น้ำแห้งขอด จอกแหนไม่สามารถอยู่ได้ เป็นต้น

จากหลัก 6 ประการ การเขียนต้นฉบับ คือการวางโครงเรื่อง การสร้างตัวละคร และสร้างฉาก รวมทั้ง ขึ้นต้น ตอนกลาง และตอนจบ ได้ทั้งคมคำและคมความ เรียกว่าสุนทรียรส

ทั้งนี้ หากเราสร้างตัวบทให้บรรลุถึงความสมบูรณ์ การแปรรูปตัวบทไปจัดวางลงพื้นที่ศิลปะ และสื่อดิจิทัล เป็นทางออกตามธรรมชาติของศิลปะ ทั้งนี้ ตัวบทอยู่ในฐานะวาทกรรมที่อาจมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางความคิด และวิถีชีวิต ความหมายของวาทกรรม ย่อมมีทั้งการลดทอน เติมเพิ่ม สลับย้ายที่ในพื้นที่ และเครื่องมือชิ้นใหม่อยู่เสมอไม่รู้จบ

ในศตวรรษที่ 21 สุนทรียภาพชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ การรู้ทักษะ และฝึกฝนใช้ภาษาสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็น หากเราสร้างงานเขียนได้อย่างประสานกลมกลืนทั้งรูปแบบกับเนื้อหา ก่อให้เกิดสมาธิขั้นสูง นำไปกระบวนการแปรรูปเป็นศิลปะแขนงอื่น เช่น ภาพวาด รูปปั้น และภาพยนตร์ รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์สื่อดิจิตอล เราจะเป็นบุคคลที่มีกระบวนทัศน์เข้มแข็ง มีชีวิตอยู่ด้วยการสร้างสรรค์ภาษ าและปัญญาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image