เปิดแผนสอน ‘ออนไลน์’ สอศ.รุกจัด 4 รูปแบบ พลิกโฉมการเรียนอาชีวะไทย!!

เปิดแผนสอน ‘ออนไลน์’ สอศ.รุกจัด 4 รูปแบบ พลิกโฉมการเรียนอาชีวะไทย!!

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม จากกำหนดการเดิมที่จะต้องเปิดในวันที่ 18 พฤษภาคม เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน และคนรอบๆ ข้าง รวมถึง เพื่อให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปมากกว่านี้

ส่วน “การจัดเรียนการสอน” นั้น ศธ.ต้องระดมสมองคิด “รูปแบบ” การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ซึ่งรูปแบบวิธีการจัดเรียนการสอนนั้น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้กำหนดไว้ 3 มาตรการ ดังนี้

หากสถานการณ์คี่คลาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียน สามารถตัดสินใจเปิดการเรียนการสอนตามปกติ โดยปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดอย่างเคร่งครัด

มาตรการที่ 2 หากการแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย ให้สอนผ่านระบบดิจิทัล โดย ศธ.ประสานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอช่องทีวีดิจิทัล จำนวน 17 ช่อง แบ่งเป็น ช่องของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 15 ช่อง และอีก 2 ช่อง สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นอกจากนี้ ยังมีสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือดีแอลทีวี เข้ามาเสริมด้วย

Advertisement

และ มาตรการที่ 3 การสอนเสริมทางออนไลน์ ซึ่งการเรียนออนไลน์จะเหมาะกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย เพราะนักเรียนเหล่านี้ สามารถเข้าถึงการเรียนการสอน ทั้งการสอนผ่านทีวีดิจิทัล และสอนทางออนไลน์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า นักเรียนกว่า 90% มีสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตแทบทุกคน ทั้งนี้ นายณัฏฐพลเน้นย้ำว่า ศธ.จะทดสอบระบบในวันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน เพื่อทดสอบดูว่าแต่ละพื้นที่ประสบปัญหาอะไร และหาทางแก้ไขต่อไป หากในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ไม่สามารถสอนในห้องเรียนได้ ก็ต้องดำเนินการสอนผ่าน “ออนแอร์” และ “ออนไลน์” ต่อไป…

ส่งผลให้หน่วยงานในสังกัด ศธ.ต้องเร่งวางแผนจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับมาตรการที่วางไว้

ซึ่งในส่วนของ สอศ. ได้วางแผนรับมือไว้เช่นกัน…

Advertisement

นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สอศ.เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงแพลตฟอร์ม ร่วมกับ ศธ.เตรียมการ “Cloud Computing” หรือช่องการเรียนรู้ หรือสัญญาทีวีดิจิทัล ซึ่งการพัฒนาชุดการเรียนออนไลน์ในลักษณะดีแอลทีวี สอศ.จะพัฒนาจากรายวิชาทั้งหมดตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ตามรูปแบบ และแพลตฟอร์มของ ศธ.กำหนด รวมทั้งหมด 300 รายวิชา

ระยะแรก สอศ.จะดำเนินการพัฒนารายวิชาในหมวดสมรรถนะแกนกลางทุกรายวิชา ส่วนรายวิชาหมวดสมรรถนะวิชาชีพ จะพัฒนาเฉพาะสาขาวิชาที่มีผู้เรียนจำนวนมากก่อน โดยพัฒนาชุดการเรียนรู้ในลักษณะโมดูล และสร้างชุดสมรรถนะของแต่ละรายวิชา โดยจะดำเนินการพัฒนาเฉพาะเนื้อหารายวิชา ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ที่สามารถจัดทำห้องเรียนเสมือน หรือ Virtual Classroom ได้เท่านั้น

สำหรับเนื้อหาภาคปฏิบัติ ยังคงต้องเข้ารับการฝึกปฏิบัติในโรงฝึกงานของสถานศึกษา หรือในสถานประกอบการ ซึ่งทางวิทยาลัย และครูผู้สอน จะต้องกำหนดเวลาเรียน หรือนัดหมายผู้เรียนไว้ล่วงหน้า โดยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ สธ.กำหนดอย่างเคร่งครัด

ส่วนการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ สถาบันแต่ละแห่งจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนา หรือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่หลากหลาย ตามบริบท และศักยภาพของแต่ละสถาบัน

ในระยะเวลาที่มีจำกัด สอศ.ได้วางแผนเตรียมความพร้อมให้ครู และผู้เรียน ดังนี้ จากเดือนเมษายนถึงวันที่ 30 มิถุนายน จะพัฒนาครูด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ครูมีความพร้อมในการสอนออนไลน์ โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดทำโครงการพัฒนาครูอาชีวศึกษาดิจิทัลเพื่อการศึกษา ให้กับครูอาชีวะทั้งรัฐ และเอกชน จำนวน 10,000 คน เพื่อให้ครูเหล่านี้กลับไปเป็นครูพี่เลี้ยง สอนครูในสถานศึกษาต่อไป

นอกจากจะพัฒนาครูให้รองรับการสอนออนไลน์แล้ว ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงวันที่ 30 มิถุนายน สอศ.วางแผนที่จะพัฒนาผู้เรียน 3 ด้าน คือ ด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และทักษะการเรียนรู้ด้านดิจิทัล ผ่านศูนย์การเคลื่อนที่การเรียนการสอนออนไลน์ 23 แห่งทั่วประเทศ

การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียน นักศึกษา ผ่านแอพพลิเคชั่น “EchoVe” โดยให้นักเรียนเรียนผ่านออนไลน์ ศึกษาบทเรียนเพื่อพัฒนาการสื่อสารขั้นพื้นฐาน การสื่อสารในการทำงาน และภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ 9 ประเภท นอกจากนี้ สอศ.จะให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะด้วยการดูภาพยนตร์ Soundtrack คนละ 5 เรื่อง โดยสมัครเรียนที่ครูแผนกวิชาภาษาอังกฤษในทุกวิทยาลัยได้

ส่วนการพัฒนาทักษะภาษาจีน ให้สถานศึกษาสมัครโดยจัดส่งข้อมูล สถานศึกษา ครูและนักเรียน สอศ.อบรมครูให้สามารถเปิดห้องเรียนออนไลน์เพื่อสอนนักเรียน นักศึกษา และจะประเมินผลการเรียนก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1

ทั้งหมดเป็นแผนที่ สอศ.เตรียมรับมือสอนในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้…

สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ สอศ.วางแผนไว้ มี 4 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 แบบเรียน หรือเอกสารประกอบการสอนที่บ้าน โดยครูผู้สอนมีระบบออนไลน์ที่ติดต่อนักเรียน นักศึกษาได้หลากหลายช่องทาง เช่น ไลน์ SMS และ Facebook เป็นต้น

รูปแบบที่ 2 ดีแอลทีวี ซึ่งผู้เรียนจะเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเรียนจากชุดการเรียนออนไลน์ ซึ่งมีรูปแบบเหมือนกับดีแอลทีวี โดยครูสามรถสื่อสารถึงนักเรียนได้หลายช่องทาง เช่น โทรทัศน์ และยูทูป เป็นต้น

รูปแบบที่ 3 ศึกษาจากระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของสถานศึกษา โดยสถานศึกษาสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้น หรือใช้แอพพิลเคชั่นที่มีอยู่แพร่หลายในโซเชียบ เช่น Google Classroom, Microsoft Teams, Zoom มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน รวมถึง การผลิตบทเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง หรือสถานศึกษาสร้างห้องเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของตน ซึ่งจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนแบบเรียลไทม์ได้

รูปแบบที่ 4 live ผ่านศูนย์การสอนออนไลน์ของสถานศึกษาแม่ข่าย เนื่องจากในบางสาขาวิชาขาดแคลนครูผู้สอน หรือต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการสอน เช่น สาขาซ่อมบำรุงอากาศยาน ระบบราง เป็นต้น อาจจะให้เรียนโดยการรับชมการถ่ายทอดสดการจัดการเรียนการสอน ผ่านศูนย์การสอนออนไลน์ของสถานศึกษาแม่ข่าย คือ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและกำลังคนอาชีวศึกษา

ทั้งนี้ สถานศึกษา ครู และผู้เรียนจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ด้วย…

อย่างไรก็ตาม “สถานศึกษา” จะต้องพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ ความสามารถในการวิเคราะห์หลักสูตรรายวิชา เพื่อนำมาจัดทำเอกสารประกอบการสอน บทเรียน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้เหมาะสมกับผู้เรียน รวมทั้ง เตรียมครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ให้พร้อม จัดตั้งศูนย์ผลิตสื่อการสอน พร้อมกับเตรียมระบบอินเตอร์เน็ตที่เพียงพอกับการจัดการเรียนการสอน พร้อมกับจัดแหล่งวิทยากรอื่นๆ ที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทในการสอนทางไกลด้วย

ส่วนของ “ครู” จะต้องเตรียมการวิเคราะห์หลักสูตรวิชา เพื่อนำมาจัดทำเอกสารประกอบการสอนที่มีคุณภาพ จัดทำใบงาน ใบความรู้ ตามเนื้อหาภาคปฏิบัติที่มีคุณภาพ โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตร และสภาพความต้องการของผู้ใช้ จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร และจัดทำเครื่องมือวัดผลประเมินผลที่มีคุณภาพ

“ผู้เรียน” จะต้องเตรียมความพร้อม ดังนี้ ควรมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วไม่ต่ำกว่า 256 kbps ควรมีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนที่มีหน่วยความจำที่เพียงพอต่อการศึกษาเนื้อหาตามหน่อยการเรียน สามารถจัดสรรเวลาให้กับการเรียนได้

นอกจากการเรียนการสอนทางออนไลน์แล้ว สอศ.ได้เปิดปฏิทินการดำเนินการรับนักเรียน นักศึกษา ระดับ ปวช.ดังนี้ รับสมัครทางออนไลน์วันที่ 3-12 พฤษภาคม ให้หลีกเลี่ยงการทดสอบนักเรียน โดยสถานศึกษาสามารถใช้หลักเกณฑ์อื่นมาประกอบรับสมัครแทนได้ หากสถานศึกษามีผู้สมัครเกินจำนวนรับ ให้ทดสอบในรู้แบบอื่นโดยกำหนดวันสอบไว้วันที่ 30-31 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 4 มิถุนายน และมอบตัววันที่ 9-11 มิถุนายน ส่วนระดับ ปวส.ให้สถานศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ เลขาธิการ กอศ.แย้มไว้ว่า เนื่องจากมีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่ออีก 1 เดือน ฉะนั้น วันสอบอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัด จึงมีแนวโน้มสูงในการเลื่อนวันสอบไปอีก 1 สัปดาห์

ต้องจับตาดูต่อไปว่า การเรียนการสอนออนไลน์ที่ สอศ.วางแผนไว้ จะเป็นอย่าง “ราบรื่น” หรือมี “อุปสรรค” อย่างไร ??

สามารถให้ความรู้กับผู้เรียนได้มากน้อยแค่ไหน…

เพราะการเรียนอาชีวะ นอกจากจะเรียนภาค “ทฤษฎี” แล้ว จะต้องเรียนภาค “ปฏิบัติ” อีกด้วย

ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ที่ สอศ.จะต้องพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้รองรับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

หาก สอศ.ทำสำเร็จ จะถือเป็นการ “ปฏิรูป” และ “พลิกโฉม” วงการอาชีวศึกษาไทยไปอีกก้าวหนึ่งเลยทีเดียว !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image