นักวิชาการค้านวุฒิ ‘ป.ธ.9’ เท่า ป.เอก เหตุพุทธศาสนา’ลึกซึ้ง-มีแก่นสาร’กว่า

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. … ในมาตรา 22 ที่ระบุการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมสนามหลวง และแผนกบาลีสนามหลวง ที่จัดให้แก่สามเณรซึ่งมิใช่เด็กตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ หรือพระภิกษุ มีวิทยฐานะ ดังนี้ แผนกธรรมสนามหลวง มีวิทยฐานะชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น, แผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรม (ป.ธ.) 3 มีวิทยฐานะชั้นมัธยมปลาย, แผนกบาลีสนามหลวง ชั้น ป.ธ.6 มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี, แผนกบาลีสนามหลวง ชั้น ป.ธ.8 มีวิทยฐานะชั้นปริญญาโท และแผนกบาลีสนามหลวง ชั้น ป.ธ.9 มีวิทยฐานะชั้นปริญญาเอก ทำให้เกิดการวิจารณ์ว่าวุฒิทางธรรม ไม่สามารถเทียบวุฒิทางโลกได้ โดยเฉพาะ ป.ธ.9 มีมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.2527 ระบุว่า “ผู้สำเร็จวิชาพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง ชั้น ป.ธ.9 มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี” เท่ากับขัดกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม ที่ให้ ป.ธ.9 มีวิทยฐานะชั้นปริญญาเอกว่า ส่วนตัวมองว่า ป.ธ.9 สามารถเทียบเท่าวุฒิปริญญาเอกได้ เพราะศาสตร์การเรียนของพระสงฆ์มีความเชี่ยวชาญเชิงลึกเฉพาะด้าน และมีความเป็นปรัชญาสูง หรือรู้ลึกรู้จริงเฉพาะด้าน ซึ่งสาขาวิชาบาลีเมื่อกำหนดวิทยฐานะชั้นปริญญา จะดูค่อนข้างเป็นหลักสูตรของไทย

“การเรียนทางธรรม และทางโลก เรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ แต่ประเด็นคือผมไม่อยากให้นำการเรียนทางธรรม และทางโลกมาจัดหลักสูตรไขว้กันไปมา เพราะจะทำให้องค์ความรู้ทางธรรมที่มีศาสตร์วิชาเฉพาะไขว้เขวไปด้วย ไม่อยากให้ทุกคนยึดมหาวิทยาลัยทางโลกมากเกินไป จนนำมาเปรียบเทียบหลักสูตรการเรียนของพระสงฆ์ สิ่งที่ควรมองคือต้องหันมาพัฒนาหลักสูตรการเรียนของพระสงฆ์ทั้งในโรงเรียนพระปริยัติธรรม และมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง เพื่อผลักดันไปสู่สากลให้ได้ดีกว่า เพราะอนาคตเมื่อมนุษยชาติเรียนรู้เรื่องวัตถุนิยมมากเกินไป จะเกิดภาวะปฏิเสธการเรียนพุทธศาสตร์และปรัชญา จะเป็นคำตอบที่คนกลุ่มนี้ต้องการแสวงหาธรรมชาติ และตัวตนของตัวเอง ซึ่งชาติตะวันตกให้ความสำคัญศาสตร์นี้มาก จึงนับว่าการเรียนทางธรรมมีจุดเแข็งเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่ควรให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาจนลืมแก่นแท้ของศาสนาพุทธ สิ่งสำคัญของการเรียนทางธรรมมีแก่นสารกว่ามาก จึงไม่อยากให้โยงเรื่องเทียบวุฒิให้เสียแก่นสาร” นายสมพงษ์กล่าว

นายสมพงษ์กล่าวว่า ส่วนที่มีผู้มองว่า พ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.2527 ให้ผู้จบ ป.ธ.9 มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี จะขัดกับร่าง พ.ร.บ.นี้หรือไม่นั้น ตนมองว่ากฎหมายเก่าล้าหลังแล้ว ขณะนี้คนมีการศึกษามากขึ้น จึงไม่อยากให้ยึดติดวิธีคิดแบบอดีต

นายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า ปริญญาเอกกับ ป.ธ.9 นั้นหลักสูตรต่างกันมาก เป็นไปไม่ได้ที่จะมาเทียบเท่ากัน เปรียบเหมือนเทียบผลไม้ระหว่างมะม่วงกับทุเรียน แม้จะเป็นผลไม้เหมือนกันแต่เทียบกันยาก หากราชการจะยกกฎหมายมาบังคับเพื่อเทียบวุฒิการศึกษา ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะไม่เคยมีวิธีปฏิบัติแบบนี้ในประเทศไทย ที่สำคัญไม่สอดคล้องวิธีปฏิบัติในหลักสากล

Advertisement

“วุฒิปริญญาเอก และ ป.ธ.9 ต้องเปรียบเทียบกันตามหลักสูตร โดยใช้กฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่ใช่ใช้กฎหมายบังคับให้เทียบเท่ากัน ผมยังสงสัยอยู่ว่ามีใครจ้างผู้จบสาขาภาษาบาลีเข้าทำงานหรือไม่ เพราะสาขานี้น้อยมากที่จะนำความรู้มาใช้ในโลกความจริง อีกทั้ง ความต้องการในตลาดงานก็มีไม่มาก อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ต้องดูการยอมรับของสังคมด้วย” นายวรากรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image