ตามไปดู ‘CU V Care’ เนรมิต ‘จุฬานิเวศน์-หอพักนิสิต’ รับ ‘ผู้ป่วยพักฟื้น-เฝ้าระวัง’ โควิด-19

ตามไปดู ‘CU V Care’ เนรมิต ‘จุฬานิเวศน์-หอพักนิสิต’ รับ ‘ผู้ป่วยพักฟื้น-เฝ้าระวัง’ โควิด-19

จุฬาฯ – จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เปิด 100 ห้องพัก ใน 2 อาคารของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับสมาชิกประชาคมที่พักฟื้นจากการติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่เข้าข่ายการสืบค้นโรค (Patient under Investigation หรือ PUI) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่พัก

ศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งเกินกำลังที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายๆ แห่งจะรองรับได้ จุฬาฯ จึงได้จัดตั้ง โครงการ CU V Care เพื่อรองรับบุคลากร และนิสิตจุฬาฯที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น และกลับไปดูแลตัวเองได้ ตลอดจนผู้ที่เข้าข่ายการสืบค้นโรค

 

Advertisement

ภายใต้โครงการดังกล่าว จุฬาฯ ได้ปรับปรุง อาคารจุฬานิเวศน์ สำหรับบุคลากร หรือนิสิตที่ติดเชื้อ และได้รับการรักษาจนมีอาการดีขึ้น และ หอพักจำปา สำหรับผู้ที่เข้าข่ายการสืบค้นว่าติดเชื้อหรือไม่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาคมจุฬาฯ และลดปัญหาเตียงคนไข้ ในโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ไม่เพียงพอ

โดยจุฬาฯ ได้วางแผนในการดูแลบุคลากร และนิสิตกลุ่มนี้ในด้านสุขภาพ โดยศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ สำนักบริหารระบบกายภาพ จะร่วมกันดูแลความเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ของการใช้ชีวิตของบุคคลทั้ง 2 กลุ่มนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ยกเว้นค่าอาหาร

Advertisement

ส่วนระยะต่อไป จุฬาฯ มีแผนขยายการช่วยเหลือผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประชาคมจุฬาฯ จากโรงพยาบาลจุฬาฯ ให้เข้าพักที่อาคารดังกล่าวด้วย รวมทั้ง ประสานงานสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เพื่อใช้อาคารในพื้นที่เชิงพาณิชย์ของจุฬาฯ รับผู้ป่วยมาพักเพิ่มขึ้น

“นโยบายของจุฬาฯ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย และการดูแลสุขภาพของประชาคมจุฬาฯ ให้ดีที่สุด โดยได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการดูแลเรื่องสุขภาพ จัดสถานที่รองรับ และมีระบบดูแลสุขภาพทางใจด้วย อยากให้ความมั่นใจว่าจุฬาฯ มีระบบในการดูแลสุขภาพประชาคมจุฬาฯ อย่างดีตามมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อและ PUI มีสุขภาพที่ฟื้นคืนมาอย่างดีที่สุด” ศ.นพ.นรินทร์ กล่าว

ส่วนการเตรียมความพร้อมเรื่องที่พักสำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 และ PUI นั้น ศ.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยอธิการบดีด้านแผนและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า จะใช้จุฬานิเวศน์สำหรับรองรับกลุ่มแรก และหอพักจำปาสำหรับกลุ่มหลัง โดยรองรับได้อาคารละ 50 เตียง ซึ่งได้เตรียมระบบรองรับทางด้านกายภาพ และด้านการแพทย์ไว้พร้อมให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา

สำหรับวิธีคัดเลือกผู้ที่จะมารับบริการ ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ จะคัดเลือกผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มาก และต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการสังเกตอาการจากโรงพยาบาลมาแล้ว ว่ามีอาการดีขึ้น และปลอดภัยเพียงพอที่จะส่งกลับมาให้จุฬาฯ ดูแลต่อ โดยมีทีมแพทย์ พยาบาลจากศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ คอยประสานติดตามอาการผู้ป่วยทุกวัน ถ้ามีอาการแย่ลง จะส่งกลับไปโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อตรวจรักษาต่อ

ซึ่งการดูแลจะแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ผู้ที่เป็น PUI ไม่แสดงอาการ จะให้ดูแลตัวเองเหมือนคนปกติ มีห้องพักส่วนตัวให้ แต่ใช้ห้องน้ำรวมที่อาคารจำปา ส่วนผู้ป่วยที่มีผลเลือดจากการทดสอบตามมาตรฐานเป็นบวก จะจัดให้อยู่ห้องเดี่ยว มีห้องน้ำในตัวที่อาคารจุฬานิเวศน์ ทั้ง 2 อาคารมีอาหารให้บริการ มีการจัดการเรื่องขยะอย่างเป็นระบบ และมีระบบติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมน่าจะช่วยลดการติดเชื้อระหว่างคนในครอบครัวของสมาชิกประชาคมจุฬาฯ ได้

ในส่วนของบุคลากรที่เข้ามาช่วยในโครงการนี้ จะเป็น “อาสาสมัคร” ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สำนักบริหารระบบกายภาพ คนงาน คนสวน ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน จำนวน 40 คน อาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับการอบรมเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในการดูแลป้องกันตัวเองในด้านต่างๆ จากอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านโรคติดเชื้อ จัดทำคู่มือสรุปข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเอง วิธีการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดทีมบริหารที่เฝ้าระวังจัดการเรื่องโควิด-19 โดยตรง

ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีด้านการพัฒนานิสิตและนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาฯ กล่าวถึงหอพักจำปา ที่ใช้เป็นที่พักของสมาชิกประชาคมจุฬาฯ ที่เป็น PUI ว่า ต้องขอบคุณนิสิตที่ย้ายตัวเองออกมา เพื่อให้หอพักว่างสำหรับปรับใช้ในสถานการณ์นี้ และต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เป็นอาสาสมัคร ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเหล่านี้

สำหรับการดูแลนิสิตทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ จุฬาฯ มีหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต (Chula Student Wellness) ซึ่งปรับเปลี่ยนแผนการดูแลด้วยการให้บริการให้คำปรึกษาออนไลน์ กรณีที่นิสิตมีความกังวลโดยเฉพาะในประเด็นของโควิด-19 โดยตรง

ด้าน ผศ.ดร.วรภัทร์ อิงคโรจน์ฤทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านการบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ กล่าวว่า การจัดที่พักสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นที่อาคารจุฬานิเวศน์นั้น มี 4 ชั้น ห้องมีพื้นที่ 32 ตรารางเมตร สภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเป็นอาคารแยกจากอาคารอื่น มีระยะห่างจากอาคารอื่นไม่ต่ำกว่า 10 เมตร โดยมหาวิทยาลัยจะเตรียมคู่มือการปฏิบัติตนเมื่อเข้าพักอาศัย ซิมโทรศัพท์สำหรับติดต่อสื่อสาร และของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องมือทำความสะอาด จาน ชาม พัดลม ที่นอน ถังขยะ ฯลฯ

สิ่งของที่ผู้เข้าพักต้องใช้ร่วมกัน คือ ห้องซักผ้า มีชั้นละ 1 จุด รวม 4 จุด และจุดทิ้งขยะ ซึ่งจัดจุดทิ้งขยะไว้ที่ชั้น 1 กรณีที่ผู้เข้าพักออกจากห้องได้แล้ว จะทำความสะอาดห้อง และฆ่าเชื้อตามมาตรฐานทางสาธารณสุข (สธ.) ก่อนรับผู้เข้าพักรายใหม่

นอกจากนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำ และอาสาสมัครกว่า 50 คน เพื่อปฏิบัติงานในอาคาร ซึ่งได้รับการอบรมวิธีการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมากที่สุด แบ่งเป็น 4 ฝ่าย คือ 1.ผู้ประสานงานหลัก มีหน้าที่ในการประสานงานระหว่าง ฝ่ายแพทย์-พยาบาล ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ฝ่ายระบบกายภาพ และผู้เข้าพัก 2.ทีมส่งยา และอาหาร 3.การเก็บขยะ และ 4.ฝ่ายระบบกายภาพ และรักษาความปลอดภัย

การปฏิบัติงานในแต่ละวัน จะจัดเวรผลัดเปลี่ยนกันทำงานเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ผลัดแรกเวลา 06.00-14.00 น.และผลัดสอง เวลา 14.00-22.00 น.

โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และจิตอาสาทั้งหมด จะไม่สัมผัสโดยตรงกับผู้เข้าพัก การติดสื่อสารหลักจะใช้วิธีออนไลน์ หรือโทรศัพท์ หากจำเป็นต้องพูดคุยกัน จะกำหนดระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ผู้ปฏิบัติงาน และอาสาสมัครทุกคนจะได้รับการตรวจเช็คสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหลังจากจบโครงการ และทำประกันสุขภาพให้ทีมงานทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image