‘กรมศิลป์’ ลุยขุดเรือโบราณ ‘พนมสุรินทร์’ นักวิทย์ฯเตรียมอนุรักษ์ หวั่นเสื่อมสลายหลังนำขึ้นจากโคลน

ภาพจากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยกับ ‘มติชน’ ถึงความคืบหน้าโครงการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งเรือพนมสุรินทร์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งพบในนากุ้งของนายสุรินทร์ และนางพนม ศรีงามดี ตั้งแต่ พ.ศ.2556 ถือเป็นเรืออาหรับที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอายุราว พ.ศ. 1200-1300 ร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดี โดยที่ผ่านมาเคยมีการดำเนินงานไปแล้วบางส่วน ก่อนยุติไปชั่วคราว (ย้อนอ่าน เขย่าปม ‘พนมสุรินทร์’ เรืออาหรับ 1,200 ปี วันนี้ถึงไหน?)

นายประทีป กล่าวว่า ล่าสุดสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี นำเสนอแผนงานโครงการที่จะทำการขุดค้นแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์เพิ่มเติม โดยเบื้องต้นจะมีการทำเขื่อน หรือคันดินกันน้ำสำหรับควบคุมน้ำ เพื่อให้สามารถทำงานวิชาการโบราณคดีต่อได้ จากนั้นจึงมีการขุดเพิ่ม นอกจากนี้ หากพบโบราณวัตถุ จะทำการอนุรักษควบคู่กันไป

“เพิ่งมีการประชุมเสนอแผนและปรับแผนกันลงตัวแล้ว เรื่องสำคัญคือการทำงานวิชาการ และงานอนุรักษ์โบราณวัตถุที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะแช่อยู่ในน้ำกร่อย น้ำเค็ม เมื่อได้หลักฐานทั้งหมดแล้ว คงต้องประเมินอีกครั้งหนึ่ง ต้องนำขึ้นมาอนุรักษ์ ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่เช่นนั้นจะเสื่อมสลายหมด ทั้งอินทรีย์วัตถุ และโบราณวัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ปีนี้คงยังไม่จบ อย่างน้อยต้องอีก 1 ปี ทั้งในส่วนของการขุดเพิ่มและการอนุรักษ์” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าว

Advertisement

นายเอิบเปรม วัชรางกูร อดีตผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้น้ำ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ขณะนี้นักโบราณคดีได้ขุดหลุมทดสอบ เพื่อตรวจสอบว่าบริเวณดังกล่าวมีโบราณวัตถุอยู่หรือไม่ จากนั้นจะทำเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อควบคุมไม่ให้น้ำในบ่อกุ้งเอ่อเข้าพื้นที่แหล่งโบราณคดีซึ่งจะทำการขุดค้น หากพบโบราณวัตถุจะต้องมีการอนุรักษ์ โดยกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร อยู่ระหว่างเตรียมการดังกล่าว

“ที่ทำอยู่ตอนนี้คือขุดหลุมทดสอบ เมื่อทำเสร็จ สิ่งที่จะทำต่อไปคือเขื่อนกันน้ำ ไม่อย่างนั้นจะควบคุมปริมาณน้ำไม่ได้ พอน้ำในบ่อกุ้งเพิ่ม จะเอ่อเข้าแหล่ง ในส่วนงานโบราณคดี ไม่ค่อยเป็นห่วง คิดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ก็เสร็จ แต่เผื่อเวลาไว้ 2 ปี เสร็จแน่นอน แต่สิ่งที่ห่วงคือ เมื่อขุดตัวเรือขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไรต่อ ของที่ขุดได้ต้องเตรียมแล็บไว้รอ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังเตรียมการ และเป็นผู้กำหนดความพร้อม ถ้ายังไม่พร้อม ก็ยังนำของขึ้นมาไม่ได้ คาดว่าจะมีการประชุมอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้” นายเอิบเปรมกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ เรือโบราณพนมสุรินทร์ นับเป็นหลักฐานแหล่งเรือจมมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบแหล่งเรือจมในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการศึกษาอักษรอาหรับบนชิ้นส่วนภาชนะดินเผา รูปแบบภาชนะดินเผาที่พบทั้งจากแหล่งผลิตจากจีน ตะวันออกกลาง และภาชนะในท้องถิ่น อีกทั้งรูปแบบเรือที่ใช้วิธีการต่อเรือแบบอาหรับโบราณ  รวมถึงการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ตัวอย่างอินทรียวัตถุที่พบสอดคล้องกันว่าเรือโบราณลำนี้มีอายุราว พ.ศ. 1200-1300 ร่วมสมัยกับเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ส่วนผลการศึกษาทางธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณีบ่งชี้ให้ทราบว่าเรือโบราณนี้พบอยู่ในร่องน้ำโค้งตวัดโบราณ ที่ระดับความลึกประมาณ 2 เมตร จากผิวดินปัจจุบัน ลำน้ำโค้งตวัดที่เรือโบราณจมตัวอยู่นี้ เป็นส่วนของแม่น้ำท่าจีนโบราณหรือแม่น้ำสาขาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน จึงมีข้อสันนิษฐานว่าเรือลำนี้น่าจะเป็นเรือที่เดินทางไปมาระหว่างดินแดนแถบตะวันออกกลางและจีน

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image