จับตา…รับเด็กม.1 /ม.4 ยุคโควิด นิวนอร์มอล ‘ปลอดแป๊ะเจี๊ยะ’ ?!?

จับตา…รับเด็กม.1 /ม.4 ยุคโควิด นิวนอร์มอล ‘ปลอดแป๊ะเจี๊ยะ’ ?!?

ต้องปรับตัว ขยับไปทั้งขบวน สำหรับโรงเรียน ครู นักเรียนผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็น การเรียนการสอน และการสมัครสอบเข้าเรียนขั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และม.4 ที่ต้องทำกันผ่านช่องทาง ออนไลน์….

ซึ่งล่าสุด นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาประกาศปรับเปลี่ยนการปิดภาคเรียนอีกครั้ง จากเดิมภาคเรียนที่ 1/2563 เปิด 1 กรกฎาคม -30 พฤศจิกายน ภาคเรียนที่ 2/2563 เปิด 1 ธันวาคม-30 เมษายน 2564 เปลี่ยนมาเป็น ภาคเรียนที่ 1/2563 วันที่ 1 กรกฎาคม 13 พฤศจิกายน ส่วนภาคเรียนที่ 2/2563 เปิด 1 ธันวาคม – 9 เมษายน 2564
ทำให้เด็กได้มีเวลาปิดเทอมรวม 54 วัน!!

ขณะเดียวกัน นางลักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาแถลงผ่าน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เพื่อให้นักเรียน และผู้ปกครอง เกิดความมั่นใจ ว่าศธ.ได้จัดทำแนวทางในการจัดการเรียนการสอนทุกระดับชั้นทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) รวมถึงเตรียมทักษะที่สำคัญให้กับผู้เรียน ทั้งภาษอังกฤษ ดิจิทัลและโคดดิ้ง ซึ่งจำเป็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยหัวเรือใหญ่ อย่าง นายณัฏฐพล มีนโยบายชัดเจนให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นวันที่ 1 กรกฎาคมเปิดเทอมแน่นอน ส่วนจะเรียนผ่านออนไลน์ ที่บ้านหรือที่โรงเรียน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยจะปรับใช้สิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Advertisement

ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ช่องศึกษาทางไกล 17 ช่อง ทั้งนี้การตัดสินใจจัดการเรียนการสอนต่างๆ จะอยู่บนพื้นฐานการสำรวจความต้องการของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ปรับตารางเรียนตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการให้ความรู้ตามช่วงวัย บุคลาลากรทางได้ศึกษา ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ในส่วนของการเรียนออนไลน์สพฐ.เองออกมาการันตี และเตรียมจะทดลองเรียนออนไลน์ วันที่ 18 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งผู้ปกครองที่พบปัญหา สามารถแจ้งมาได้เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม
ถือเป็นการพลิกโฉม การศึกษาไทยครั้งสำคัญ!!

ขณะที่การสมัครสอบเข้าเรียนชั้นม.1 และม.4 ด้วยระบบออนไลน์ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยได้เปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 3-12 พฤษภาคม โรงเรียนแต่ละแห่งก็คงต้องเตรียมพร้อม ไม่ให้เกิดขึ้นผิดพลาด เป็นธรรม ที่สำคัญให้เด็กได้มีที่นั่งเรียนครบทุกคน

Advertisement

นายธนารัชต์ สมคเณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)เขต 1 กทม. ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการรับนักเรียน สพม.เขต1 กทม. ยืนยันว่า ค่อนข้างพร้อม โดยได้เตรียมการมาก่อนที่สพฐ. จะประกาศแนวปฏิบัติ ทั้งในเรื่องการสมัครออนไลน์ และมาตรการจัดสอบ ซึ่งทางเขตพื้นที่ฯ ย้ำว่า ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19อย่างเคร่งครัด คือ จัดที่นั่งสอบห้องละไม่เกิน 20 คน เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา

แม้จะพร้อมแต่ก็ต้องเฝ้าดูสถานการณ์ หากถึงวันสอบคือ วันที่ 6-7 มิถุนายน สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ก็อาจต้องเลื่อนวันสอบออกไปอีก ซึ่งงานนี้ก็ต้องรอฟังนโยบายจาก “หน่วยเหนือ” อย่างสพฐ และ “ครูตั้น” ณัฐฏพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

ถามลงไปที่โรงเรียน นายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตอบคล้ายกันว่า การสมัครออนไลน์เป็นไปด้วยดี ไม่มีปัญหา ส่วนการสอบก็คิดว่า จะไม่มีปัญหาเช่นเดียวกัน

“ความพร้อมในการจัดสอบทางโรงเรียน จัดห้องสอบเพื่อตามมาตรการป้องกัน คือ ให้นั่งสอบไม่เกิด 20 คนต่อห้อง ม.1 คาดว่าจะมีนักเรียนสมัครประมาณ 1,600 คน รับ 600 คน ม.4 ดำเนินการรับม.3 ขึ้นม.4 โรงเรียนเดิมเรียบร้อย ที่เหลืออีกประมาณ 50 ที่นั่ง ก็จะเปิดสอบ ซึ่งในส่วนของม.1 คิดว่า เด็กอาจจะมาสอบน้อยลง เพราะเท่าที่ดูมีบางส่วนเดินทางกลับต่างจังหวัด ตัวผมเองไม่กังวล เรื่องระบบรับสมัคร แต่ห่วงเรื่องการสอบถ้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายหรือ รุนแรงมากขึ้น จนไม่สามารถเปิดสอบได้ ก็ขึ้นอยู่กับสพฐ. จะมีแผนรองรับอย่างไร ซึ่งผมเองมองว่า หากไม่สามารถจัดสอบได้ตามเวลาที่กำหนด ก็อาจต้องใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเข้าเรียน ยอมรับว่า คะแนนโอเน็ตอาจยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร แต่หากไม่มีทางเลือกและเวลากระชั้นมากขึ้นก็อาจไม่มีทางเลือกมากนัก ” นายวิสิทธิ์ ระบุ

เช่นเดียวกับ นายสภูษณพงศ์ เครื่องกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า หลังจากรับสมัครแล้ว ทางโรงเรียนก็จะตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน สถานการณ์สมัคร พิมพ์ใบแจ้งชำระเงิน และออกบัตรประจำตัวเข้าสอบ สำหรับใช้สอบคัดเลือก ส่วนเรื่องการเตรียมสถานที่สอบ จะมีการตรวจคัดกรองตามมาตรการป้องกันโควิด-19

อีกประเด็นที่ตัดทิ้งไม่ได้ เห็นจะเป็นมาตรการป้องกันทุจริต

โดย ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การรับเด็กม.1 และม.4 เข้าเรียนในปีนี้ ส่อแวว จะมีปัญหาทุจริตมากกว่าปีอื่นๆ เพราะมีช่องว่างค่อนข้างมากขณะที่สพฐ. เองก็ไม่มีนิวนอร์มอลในการป้องกันการเรียนรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียน ทั้งที่ควรใช้ประสบการณ์ ที่เกิดขึ้นในอดีตมาพูดคุย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และวางมาตรการป้องกันให้เข้มข้นมากขึ้น

รวมถึงเปิดกว้างให้นักเรียนและผู้ปกครองเข้ามาช่วยเฝ้าระวัง เชื่อว่าการทุจริตจะเบาบางลง ..

ขณะที่ ศธ. เอง ควรต้องฉายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้น ว่า กรณีข้าราชการทุจริต เรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งสอบ หรือรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ จะมีอนาคตทางราชการอย่างไร

เพื่อเป็นตัวอย่าง ไม่ให้มีใครกล้าเสี่ยง
เพราะความโลภเพียงชั่วครู อาจต้องแลกกับชีวิตทางราชการ!!

ถือเป็นการติเพื่อก่อให้เกิดการป้องกัน ไม่ให้มีปัญหาขึ้นภายหลัง การปรับตัวครั้งนี้ นับเป็นการพลิกโฉมการศึกษาครั้งสำคัญ ที่ทุกภาคส่วนต้องให้กำลังใจ ผลักดันให้ทุกขั้นตอนประสบความสำเร็จไปให้ได้

คงจะเป็นการดีไม่น้อย ถ้าศธ. จะถือโอกาสนี้ สร้างนิวนอร์มอล ชีวิตวิถีใหม่ ที่ทำการสอบเข้าเรียนชั้นม.1 และม.4 ไร้ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ ฝากเด็กอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image