เปิดตัวเลข ‘ผู้สมัคร’ ม.1-ม.4 ต่ำกว่าแผนหลายแสน..??

เปิดตัวเลข ‘ผู้สมัคร’ ม.1-ม.4 ต่ำกว่าแผนหลายแสน..??

รับนักเรียน – เป็นที่สนใจสำหรับ “การรับนักเรียน” ชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ปีการศึกษา 2563 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ต้องเจอมรสุมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ต้องเจอสารพัด “โรคเลื่อน” ทั้งเลื่อน “เปิดภาคเรียน” ปีการศึกษา 2563 จากเดิมต้องเปิดเรียนกลางเดือนพฤษภาคม เลื่อนไปเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม

ที่ต้องลุ้นกว่าคนอื่นๆ เห็นจะหนีไม่พ้นน้องๆ ที่เตรียมตัวขึ้นชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ต้องปรับตัวกับ “นิว นอร์มอล” หรือวิถีใหม่ของการรับนักเรียน ตั้งแต่การรับสมัครผ่านออนไลน์ แถมยังไม่ชัดเจนว่า “วันสอบ” ที่กำหนดไว้ จะได้สอบตามนัดหรือไม่ …

ล่าสุด สพฐ.ได้สรุปภาพรวม ผลการรับนักเรียนทั่วประเทศ ซึ่งเปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 3-12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

โดย นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) บอกว่า ภาพรวมการรับนักเรียนปีนี้ มีเด็กมาสมัครเข้าเรียนไม่เต็มแผนที่กำหนดไว้ โดยชั้น ม.1 แผนรับ 696,233 คน สมัคร 455,818 คน คิดเป็น 65% และชั้น ม.4 แผนรับ 406,384 คน สมัคร 327,725 คน คิดเป็น 81%

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง 290 โรงเรียนทั่วประเทศ ยังรับนักเรียนเกินกว่าแผนที่กำหนด โดยชั้น ม.1 แผนรับ 116,099 คน สมัคร 157,863 คน และชั้น ม.4 แผนรับ 119,507 คน สมัคร 144,830 คน

เมื่อเจาะลึกรายโรงเรียน พบว่า โรงเรียนที่มีผู้สมัครเข้าเรียนชั้น ม.1 มากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชั้น ม.1 แผนรับ 315 คน สมัคร 1,204 คน อัตราการแข่งขัน 4:1 ส่วนโรงเรียนในต่างจังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุดคือ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช แผนรับ 360 คน สมัคร 1,300 คน

แต่ที่น่าสังเกตคือ ปีนี้ “โรงเรียนประจำอำเภอ” มีผู้สมัครเข้าเรียนมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น โรงเรียนทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ชั้น ม.1 แผนรับ 400 คน สมัคร 1,095 คน โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จ.สงขลา ชั้น ม.1 แผนรับ 630 คน สมัคร 1,211 คน ขณะที่หลายโรงเรียนก็สามารถรับได้ตามแผน หรือใกล้เคียงกับแผนที่กำหนดไว้

Advertisement

สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ปกครองให้ความไว้วางใน และมีความมั่นใจคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนใกล้บ้านมากขึ้น

ส่วนชั้น ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ยังครองแชมป์มีนักเรียนสมัครมากที่สุด แผนรับ 1,520 คน สมัคร 11,930 คน ขณะที่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 (สพม.กทม.เขต 1) และ สพม.กทม.เขต 2 ยังรับนักเรียนเกินกว่าแผนที่กำหนดเหมือนเดิม แต่ไม่มากเท่าที่ผ่านมา

“การรับสมัครปีนี้ รับเด็กได้น้อยกว่าแผนรับที่กำหนด ส่วนหนึ่งเพราะอัตราการเกิดลดลง แต่ที่น่าดีใจ คือตัวเลขเด็กสมัครเข้าเรียนโรงเรียนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในตัวจังหวัด และอำเภอ ก้าวกระโดดขึ้นกว่าเดิม แสดงให้เห็นว่า ผู้ปกครองเชื่อมั่นในโรงเรียนมากขึ้น สพฐ.จะเร่งพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาต่อไป” นายอำนาจ กล่าว

ทั้งนี้ หากดูตามแผน เมื่อคำนวณคร่าวๆ เท่ากับว่าทุกคนมีที่เรียนแน่นอน เพราะรับเด็กได้ต่ำกว่าแผนเป็นแสนคน แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ยังอยากให้ลูกหลานได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงยังรอ “ลุ้น” โดยชั้น ม.1 สอบวันที่ 6 มิถุนายน และชั้น ม.4 สอบวันที่ 7 มิถุนายน

ลุ้นแรก คงหนีไม่พ้นจะได้สอบตามกำหนดหรือไม่ และหากไม่สามารถสอบได้ตามกำหนด สพฐ.จะดำเนินการอย่างไร ให้การสอบเข้าเรียนครั้งนี้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรม !!

เรื่องนี้ นายอำนาจกล่าวว่า ไม่น่ากังวล เพราะเท่าที่ดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องรอดูว่าจะมีการแพร่ระบาดระลอก 2 อย่างในหลายๆ ประเทศหรือไม่ หากมีการแพร่ระบาดซ้ำ ก็ต้องหารือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ขอจัดสอบโดยมีมาตรการป้องกัน และเว้นระยะห่างทางสังคม ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

แม้จะมีข้อเสนอให้ใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ในการคัดเลือก แต่ สพฐ.พิจารณาแล้วว่า การใช้คะแนนโอเน็ตตัดสินการเข้าเรียน จะทำให้เด็กเสียโอกาส และทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

อีกทั้ง การให้เด็กสอบคัดเลือก จะช่วยป้องกันปัญหาการฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต !!

ขณะที่ฝากฝั่งการรับนักเรียนของ “โรงเรียนเอกชน” นั้น นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) มองว่า แม้ สพฐ.จะรับเด็กได้น้อยกว่าแผนรับที่กำหนด ก็คิดว่าโรงเรียนเอกชนที่มีคุณภาพ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โรงเรียนที่มีคุณภาพส่วนใหญ่รับนักเรียนเข้าเรียนเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม และอยู่ระหว่างเตรียมรับเด็กเข้าเรียนปีการศึกษา 2564 เพราะมีการจองคิวไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะนักเรียนอนุบาล

ส่วนโรงเรียนเอกชนทั่วไป ยังไม่สามารถสรุปได้ ต้องรอโรงเรียนสังกัด สพฐ.รับเด็กเรียบร้อยก่อน โดยโรงเรียนเอกชนขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพ จะรับเด็กได้น้อยเป็นปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะผู้ปกครองจะเลือกโรงเรียนให้ลูกด้วยคุณภาพ

ส่วนโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ ต้องปิดตัว หรือยุบเลิก ซึ่งที่ผ่านมา มีโรงเรียนที่ไม่มีเด็กเรียน และกำลังจะยุบเลิกกิจการกว่า 190 โรงเรียน เมื่อมาเจอสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีก ก็ยิ่งแย่

โดยหลังสถานการณ์คลี่คลาย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดู เพื่อดำเนินการปิดกิจการอย่างเป็นทางการ ส่วนโรงเรียนที่มีเด็กเรียนน้อยก็มี แต่ยังไม่ปรากฏว่า มีโรงเรียนใดขอปิดกิจการ คงต้องรอดูสถานการณ์ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง

นอกจากเรื่องรับนักเรียนแล้ว สช.พยายามหามาตรการช่วยเหลือครู และโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความเดือดร้อน ในหลายช่องทาง ตามนโยบายของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตั้งแต่การปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเยียวยาครู

ล่าสุด ได้สำรวจโรงเรียนที่ขาดสภาพคล่อง ขอให้ช่วยเรื่องการหาแหล่งเงินกู้ซอฟท์โลน ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีโรงเรียนที่ขอให้ช่วยหาเงินกู้ดังกล่าวประมาณ 834 โรงเรียน ทั้งในระบบ นอกระบบ และโรงเรียนนานาชาติ เป็นเงินกว่า 4,300 ล้านบาท

“ผมได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือแล้ว ส่วนโครงการเราไม่ทิ้งกัน เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลล่าสุด ครูเอกชน ลูกจ้าง ได้รับเงินแล้ว 60% และเตรียมให้กองทุส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ปล่อยกู้ให้โรงเรียนเอกชนรายละไม่เกิน 5 แสนบาท โดยกองทุนฯ นี้มีเงินอยู่ประมาณ 500 กว่าล้านบาท เพื่อแก้ไขสภาพคล่อง” นายอรรถพล กล่าว

งานนี้ คงต้องเอาใจช่วยแม่งานอย่าง สพฐ.ให้สามารถดำเนินการจัดสอบรับนักเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ให้เป็นไปได้อย่างเรียบร้อย ซึ่งก็ต้องยึดหลักความโปร่งใส และเป็นธรรม ไม่เช่นนั้น จะเสี่ยงให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องในภายหลัง…

ที่สำคัญ ต้องระวัง “ผู้ไม่หวังดี” จะหา “ช่องโหว่” โดยอาศัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หาช่องทุจริต และเรียกรับ “แป๊ะเจี๊ยะ” เพื่อแลกที่นั่งเรียน !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image