ผู้ปกครองรู้ไว้ เด็กเรียนผ่านทีวีช่องไหน

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องปรับเปลี่ยนแผนการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น และทุกสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

โดยขยับวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากเดิมกำหนดเปิดวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม เพราะคาดหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้น ทำให้นักเรียนเดินทางไปเรียนในโรงเรียนได้ แต่เพื่อความไม่ประมาท ศธ.ได้เตรียมมาตรการจัดการเรียนการสอน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.On site ประเมินสถานการณ์เพื่อจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของครู และนักเรียนเป็นหลัก 2.เรียนผ่านออนแอร์ คือ การเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์ ซึ่งร้อยละ 90 ของประชากรไทย เข้าถึงสัญญาณ และรับชมโทรทัศน์ได้ และ 3.การเรียนออนไลน์ คือการเรียนออนไลน์ผ่านสื่อดิจิทัลต่างๆ

สำหรับการเรียนผ่านออนแอร์นั้น ศธ.ได้ขออนุมัติใช้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดการเรียรการสอน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมปลาย พร้อมกับขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องต้นทาง ในระดับปฐมวัยถึงมัธยมต้น ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม (ดีแอลทีวี) จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำสื่อทีวีดิจิทัล

โดยวันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน ศธ.จะทดลองออกอากาศช่องสัญญาในระบบดิจิทัล 17 ช่อง ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และดีแอลทีวี

Advertisement

ในระดับปฐมวัย เน้นกิจกรรมเตรียม ความพร้อมเด็ก ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมต้น และระดับมัธยมปลาย ในสังกัด สพฐ.ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ รวมทั้ง ออกอากาศช่อง กศน.และ สอศ.ด้วย

เพื่อเปิดโอกาสให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ได้ปรับบทบาท และทัศนคติของตนเองต่อการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ทั้งเป็นการทดสอบความพร้อม ประสิทธิภาพของเครื่องมือ และสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนโดย ศธ.จะรวบรวมปัญหา รูปแบบการเรียนการสอน ซึ่งครู โรงเรียน และผู้ปกครอง ต้องมาช่วยกันออกแบบให้เหมาะสม

ล่าสุด กสทช.ได้อนุมัติกำหนดช่องเรียงลำดับหมายเลขช่องรายการเพื่อการศึกษา จำนวน 17 ช่อง เริ่มตั้งแต่ช่องทีวีดิจิทัล 37-53 ดังนี้ ช่อง 37-51 ระดับชั้นอนุบาล 1-ม.6, ช่อง 52 ให้ กศน.และช่อง 53 ให้ สอศ.ส่วนการรับสัญญาณจากดาวเทียมจากซี-แบนด์ กำหนดช่อง ดังนี้ ระดับชั้นอนุบาล 1-ม.6 ช่อง 337-351, กศน.ช่อง 352 และ สอศ.ช่อง 353 และเคยู-แบนด์ กำหนดช่องดังนี้ ระดับชั้นอนุบาล 1- ม.6 ช่อง 186-200, กศน.ช่อง 201 และ สอศ.ช่อง 202

Advertisement

ส่วนการรับสัญญาณผ่านเคเบิลทีวี และไอพีทีวี ผู้ให้บริหารจะเป็นผู้กำหนด และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป

เมื่อเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม ศธ.ได้วางแผนไว้สำหรับ 2 สถานการณ์ คือ สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงมัธยมต้น ด้วยระบบทางไกลผ่านดีแอลทีวี และระดับมัธยมปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบที่ สพฐ.เป็นผู้จัดทำขึ้น และระบบออนไลน์ และสถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

สำหรับสื่อการสอนนั้น ดีแอลทีวีได้จัดทำสื่อการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1- ม.3 โดยบันทึกเทปครูต้นแบบในทุกสาระวิชา การสอนจะอิงตามตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ของ สพฐ.

ทางดีแอลทีวีได้เผยแพร่ตารางออกอากาศของระดับชั้นอนุบาล 1- ม.3 ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้นักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 เริ่มเรียนเวลา 08.30 น.และเลิกเรียนเวลา 10.50 น. จากนั้นจะออกอากาศซ้ำจนถึงเวลา 17.10 น., ระดับชั้น ป.1-ป.6 เริ่มเรียนวิชาแรกในเวลา 08.30 น. และเลิกเรียนเวลา 14.30 น. และนักเรียนระดับชั้น ม.1-3 จะเริ่มเรียนเวลา 08.30 น. และเลิกเรียนเวลา 14.30 น. โดยจะรีรันรายการใหม่ 2 ครั้ง เพื่อให้นักเรียนที่เรียนไม่ทันได้เรียนอีกครั้งด้วย

ส่วนการเรียนการสอนในชั้น ม.4-6 สพฐ.จะรับผิดชอบผลิตสื่อการสอน และกำหนดตารางเรียนโดยบันทึกเทปครูต้นแบบในทุกสาระวิชา อิงตามหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. ซึ่ง สพฐ.ได้ดึงครูจากโรงเรียนดังในกรุงเทพฯ กว่า 100 คน เช่น โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เป็นต้น มาบันทึกเทปการสอน

ทั้งนี้ เกิดข้อกังวลและคำถามตามมามากมาย เช่น ถ้าเด็กๆ ต้องเรียนหนังสือที่บ้าน แล้วถ้ามีพี่น้องหลายคนเรียนกันคนละระดับชั้น แต่ครอบครัวมีทีวีเครื่องเดียวจะทำอย่างไร จึงสรุปว่าต้องรีรันการเรียนการสอนในแต่ละวันของทุกระดับชั้นเพิ่มอีกวันละ 2 รอบ เพื่อให้บ้านที่มีเด็กหลายคน แม้ไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่มีทีวีเครื่องเดียว ก็สามารถเหลื่อมเวลากันดูได้ ซึ่งการจัดผังรายการนั้น ศธ.จะเป็นผู้รับผิดชอบ

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) ระบุว่า ตนมีข้อกังวลเช่นกัน เพราะดีแอลทีวีจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลน ทำให้ดีแอลทีวีอาจจะดีพอสำหรับนักเรียนของโรงเรียนกลุ่มหนึ่ง แต่อาจไม่ดีพอสำหรับโรงเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่คุณครู นักเรียน และผู้ปกครอง มีความพร้อม ทั้งในบริบททางสังคม และเศรษฐกิจ

“อย่างไรก็ตาม ดีแอลทีวีเป็นโอเพ่น ซอร์ส ฟรีสำหรับคนไทยทุกคนที่ต้องการ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 แต่มีผู้อาศัยช่องว่างของการสื่อสาร ขายเอกสารแผนการสอน และใบงานของดีแอลทีวี ทั้งที่จริงทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ โดยขณะนี้มีการประกาศขายแผนการสอน และใบงานอยู่ทางออนไลน์จำนวนมาก จึงขอฝาก ศธ.ชี้แจง และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วย” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว

ด้าน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้ความมั่นใจว่า ดีแอลทีวีเป็นการสอนขั้นพื้นฐาน หากโรงเรียนต้องการสอนเสริมให้นักเรียนเพิ่มเติม สามารถบริหารจัดการ วางแผนการสอนได้ ส่วนที่มีข้อกังวลว่าบ้านที่ทีวี แต่ไม่สามารถรับสัญญาได้ จะทำอย่างไร ศธ.ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มอบกล่องรับสัญญาณดิจิทัล 2 ล้านกล่อง หากพบว่าครอบครัวใดไม่สามารถรับสัญญาณได้ จะมอบกล่องรับสัญญาณให้ฟรี ขณะนี้ทราบว่ามีผู้ต้องการกล่องรับสัญญาณกว่า 1.5 ล้านกล่อง

ต้องรอดูว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคม เริ่มออกอากาศการเรียนผ่านออนแอร์ จะมีปัญหาและอุปสรรคอะไรให้ลุ้นกันอีก

โดย ศธ.จะรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน เพื่อแก้ไขให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนจริงในวันที่ 1 กรกฎาคม

เพื่อให้ “นักเรียน” ได้รับความรู้มากที่สุด ท่ามกลางวิกฤตเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาด !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image