เอกชนโอดสัดส่วนใหม่ครูต่อน.ร.’7:1′ ทำร.ร.อ่วมต้องจ้างแม่พิมพ์อีก6คน/ห้อง

ศุภเสฏฐ์ คณากูล
เอกชนโอดสัดส่วนใหม่ครูต่อน.ร.’7:1′ ทำร.ร.อ่วมต้องจ้างแม่พิมพ์อีก6คน/ห้อง วอนศธ.ช่วยสนับสนุนงบ’เจล-แผ่นกั้น’

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า ตามที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายช่วยเหลือผู้ไม่มีงานทำ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยการจ้างงาน โดย ศธ.มีความต้องการบุคลากรในส่วนของปฐมวัย ที่สัดส่วนการดูแลระหว่างครูกับนักเรียนจะต้องปรับ จากเดิมที่มีอัตรานักเรียนต่อครู อยู่ที่ 20:1 อาจจะเหลือ 7:1 นั้น ตนได้รับการร้องเรียนจากโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ว่าอาจจะมีงบประมาณในการดำเนินการไม่เพียงพอ เพราะโรงเรียนเอกชนทุกวันนี้มีนักเรียนปฐมวัยอยู่ประมาณ 30-40 คนต่อห้อง หากต้องเพิ่มจำนวนครูในอัตรา 7:1 เท่ากับต้องเพิ่มครู 5-6 คนต่อห้อง ซึ่งโรงเรียนเอกชนคงไม่มีงบไปจ้างครูได้มากขนาดนั้น ดังนั้นตนจึงได้หารือกับนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ.แล้ว ทั้งนี้นางกนกวรรณ รับปากจะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับนายณัฏฐพล เพื่อหาทางออกร่วมกัน

“ตอนนี้โรงเรียนที่สอนปฐมวัย มีครูหนึ่งคน ครูพี่เลี้ยงหนึ่งคนต่อห้องอยู่แล้ว เพิ่มครูอีก โรงเรียนก็คงมีเงินไม่พอ อยากให้ทางรัฐบาลเข้ามาให้ความช่วยเหลือ รวมถึงอยากได้ความชัดเจนว่า กรณีจะจ้างกลุ่มครูที่สอบขึ้นบัญชี แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งมาทำงานก่อนกว่า 10,000 อัตรานั้น จะแบ่งมาให้โรงเรียนเอกชนด้วยหรือไม่ ส่วนการเรียนออนไลน์ ยอมรับว่ามีปัญหาบ้าง เพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้แจ้งรายละเอียดอะไรกับทางโรงเรียนเอกชนมากนัก ทั้งที่โรงเรียนเอกชนดูแลเด็กกว่า 2 ล้านคน แต่ละโรงเรียนต้องหาวิธีดำเนินการด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเก็บค่าเทอมไม่ได้ กระทบกับการบริหารจัดการในอนาคต” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

นายศุภเสฏฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการประเมินความพร้อมในการเปิดภาคเรียน วันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามาตรการของศธ. ซึ่งห้องหนึ่งจะนั่งเรียนได้ไม่เกิน 25 คน ซึ่งก็ต้องหาแนวทาง เช่น ให้เรียนเป็นรอบ ในส่วนของเด็กโตไม่น่าจะมีปัญหา แต่ที่กังวลคือ เด็กอนุบาล ที่อาจจะไม่เพียงพอ ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม โดยเฉพาะค่าเจลล้างมือ แผ่นกั้นที่นั่งเรียนของเด็กที่ต้องใช้เงินหลายแสนบาท ยังไม่รวมกรณีต้องทำห้องเรียนหรือจ้างครูเพิ่ม โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายละเอียด เพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) และศธ.ขอความช่วยเหลือต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image