เสียงสะท้อน-ข้อแนะนำ เรียนออนไลน์

เสียงสะท้อน-ข้อแนะนำ เรียนออนไลน์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการเรียนการสอนทุกระดับในประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการจึงจัดทำนโยบายเรื่องการจัดการศึกษาทางไกลขึ้น โดย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ สร้างความเข้าใจ เตรียมพร้อมในการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 หากสถานการณ์ดีขึ้นก็สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ หากทำไม่ได้ก็จะจัดการเรียนการสอนแบบทางไกลแทน

ช่องทางแรก คือ “การเรียนผ่านทีวีดิจิทัล” ช่องทางต่อมา คือ “การเรียนในระบบทางไกลผ่านดาวเทียม” หรือผ่านทาง DLTV สำหรับชั้นอนุบาลถึงชั้น ม.3 และช่องทางที่ 3 คือ “การเรียนแบบออนไลน์” สำหรับนักเรียนชั้น ม.4-6 ครูสามารถสื่อสารกับนักเรียนได้กำหนดทดลองการเรียนการสอนทางไกล ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม-30 มิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตาม เพียงวันแรกของการเปิดเรียนทางไกลวันแรก เสียงบ่นเสียงวิจารณ์ก็ดังกระหึ่มราวกับนัดกันมา ความไม่พร้อมของผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถหาอุปกรณ์ให้ลูกๆ ได้เรียนออนไลน์ได้ บางพื้นที่เจอสัญญาณการแพร่ภาพไม่ดีพอ ที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์เด็กเล็กไม่มีสมาธิในการนั่งชมดูสักพักก็เริ่มเอนตัวนอนดูบ้าง หลับบ้าง ที่น่าเป็นห่วงพ่อแม่ก็ต้องออกไปทำงาน

อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการยืนยันว่า การเรียนออนไลน์เป็นแค่เตรียมความพร้อมเท่านั้น แต่จะไปจริงจังหลังเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

Advertisement

ช่วงนี้จึงเป็นการเก็บข้อมูล ข้อดีข้อเสีย นำมาปรับปรุงไว้ใช้ในสถานการณ์จริงหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังน่าเป็นห่วง

ลองมาฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของคนในแวดวงการศึกษากันดูบ้าง

ดร.บัญชา เกิดมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยธนบุรี อดีตนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) กล่าวว่า การเรียนออนไลน์ ทำให้ผู้ปกครองได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ผู้ปกครองต้องหาซื้อโน้ตบุ๊ก ไอแพด ให้ลูกใช้เรียน อีกทั้งยังทราบว่ามีบางโรงเรียนในเขตปริมณฑล ให้เด็กซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพื่อให้สามารถติดต่อกับนักเรียนทางแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ กลายเป็นเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองในยามวิกฤต แม้จะบอกว่าเป็นการทดลองนำร่อง แต่ผู้ปกครองก็ตกใจ ถ้าไม่ให้เรียนก็กลัวว่าลูกจะสอบไม่ผ่าน สุดท้ายก็ต้องยอมหาอุปกรณ์มาอำนวยความสะดวกให้

ตอนนี้เด็กกลายเป็นภาระผู้ปกครองที่ต้องดูแลเกือบตลอดเวลา ขณะที่ผู้ปกครองบางคนไม่พร้อมที่จะนั่งเรียน ไม่พร้อมสอนเนื้อหาวิชาการให้กับลูก เพราะต้องทำงาน หาเช้ากินค่ำ ดังนั้น อยากให้ ศธ.ค่อยๆ ผ่อนปรนมาตรการ ทยอยประกาศเปิดเรียนให้เฉพาะจังหวัด หรืออำเภอที่พร้อมก่อน เพราะทราบว่าเริ่มมีจังหวัดสีเขียวซึ่งปลอดจากเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อม หากไปเปิดเรียนพร้อมกันทีเดียวอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกสองเช่นเดียวกันประเทศอื่นๆ

ชัยธวัช เสาวพนธ์ อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะนักวิชาการอิสระ เผยกรณีกระทรวงศึกษาธิการให้เรียนออนไลน์ช่วงโควิดระบาดว่า เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสังคม เนื่องจากนักเรียนมีความพร้อมไม่เท่ากัน ที่สำคัญผู้ปกครองบางส่วนไม่สามารถสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนได้ อาทิ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก มือถือ ทีวี และจานดาวเทียม ทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนได้ จึงไม่เกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศ

“หากต้องการให้เรียนออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการต้องออกแบบหลักสูตรเฉพาะเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนให้มากที่สุด พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนให้นักเรียนทุกคน แต่ความเป็นจริงผู้ปกครองอยากส่งบุตรหลานไปเรียนที่โรงเรียนมากกว่า โดยเฉพาะเด็กอนุบาลและประถมศึกษา เพื่อไปเรียนรู้กับครูผู้สอนโดยตรง ที่สำคัญเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและสังคมโดยรอบ ทำให้เกิดเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น การเรียนการสอนในโรงเรียนจึงสำคัญกว่าเรียนออนไลน์ ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และตรงกับจุดประสงค์การเรียนมากกว่า”

ชัยธวัชกล่าวอีกว่า ตามปกติสถานศึกษามักมีนักเรียนแออัด บางห้องมีนักเรียน 40-50 คน ช่วงโควิดกระทรวงศึกษาธิการควรใช้โรงเรียนที่สั่งปิดไปแล้วเป็นสาขาโรงเรียนหลัก เพื่อกระจายนักเรียนไปเรียนชั่วคราว เหลือห้องละ 20-25 คน เพื่อลดความแออัด ปรับปรุงอาคาร ห้องน้ำ พร้อมเพิ่มสื่อการเรียนการสอนบางส่วน ไม่ต้องเพิ่มครูแต่อย่างใด ให้นักเรียนมาเรียนสัปดาห์ละ 2 วัน พร้อมเสริมกิจกรรมนอกโรงเรียน อาทิ อบรมอาชีพ เรียนรู้วิถีชาวนา และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติที่นำมาใช้ชีวิตประจำวันได้ เชื่อว่าเด็กสนใจ กระตือรือร้น ไม่เครียดกับการเรียนเชิงวิชาการเท่านั้น

“ถ้าไม่สามารถเปิดสาขาโรงเรียนได้ โรงเรียนอาจเปิดสอนสลับชั้น เช่น ป.1 ป.3 ป.5 เรียนวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ส่วน ป.2 ป.4 ป.6 เรียนวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์แทน เพื่อลดความแออัด ก่อนเปิดภาคเรียนเต็มรูปแบบของภาคเรียนที่ 1/2563 เป็นการทดลองเรียนและปรับหลักสูตรให้กับสถานการณ์โรคระบาด อาจใช้เวลาเป็นปี ก่อนมีวัคซีนป้องกันและรักษาโรคดังกล่าวแล้ว” นายชัยธวัชกล่าว

ชาคริต พิมพ์หล่อ ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคจากแนวนโยบาย รมว.ศึกษาธิการ ขอแจกแจงดังนี้ 1.การดำเนินนโยบายไม่คำนึงถึงบริบทของโรงเรียน ผู้ปกครองและนักเรียน

2.ความพร้อมด้านอุปกรณ์ของผู้ปกครองแตกต่างกัน ประกอบกับปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของผู้ปกครอง เนื่องจากมีการหยุดกิจการทางสังคม และเศรษฐกิจทำให้กระทบกับรายได้ที่จะจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์

3.ความไม่พร้อมของตัวกระทรวงศึกษาธิการเองที่มีการจัดการเรื่อง DLTV ไม่มีประสิทธิภาพออกอากาศทีไรมีปัญหาความไม่เสถียรของระบบมาโดยตลอด เช่น การถ่ายทอดรายการ “พุธเช้า ข่าว สพฐ.” ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 การถ่ายทอดก็ล้มเหลว สามารถรับชมได้บางช่วงบางตอน

4.สร้างภาระให้กับผู้ปกครองโดยไม่จำเป็น คือ เด็กอนุบาลโดยแนวคิดและปรัชญาแล้ว เด็กในวัยนี้เป็นเพียงแค่จัดเตรียมความพร้อม ในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม เพื่อเรียนในระดับสูงขึ้น แต่แนวนโยบายกลับจัดให้มีการเรียนการสอน เด็กในระดับนี้ไม่สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและที่สำคัญความสนใจใฝ่เรียนรู้มีระยะเวลาสูงสุด 30 นาทีเท่านั้น แต่โรงเรียนมากำหนดใบงาน การบ้าน ให้ส่งจึงเป็นภาระให้ผู้ปกครองมานั่งเฝ้า เสียโอกาสในการทำมาหากิน

ส่วนข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา นั้น ผอ.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี แจกแจงไว้ดังนี้ 1.ควรจะเปิดโรงเรียนในทันทีไม่ต้องรอ 1 กรกฎาคมนี้ สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อมของผู้ปกครอง ชุมชน โดยเฉพาะโรงเรียนประถมศึกษาประจำหมู่บ้าน เนื่องจากว่าชุมชนเหล่านี้มีการคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดของผู้นำชุมชนและ อสม.อยู่แล้ว คนเข้าคนออกมาในหมู่บ้าน จะรู้ว่าใครเป็นใครมาจากไหน ดังนั้น เชื่อแน่ว่าโรงเรียนประถมไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อแน่นอน

2.ให้การเรียนในห้องเรียนปกติเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนหลักของโรงเรียน เพื่อใช้ในการวัดผลประเมินผล ส่วนการสอนออนไลน์เป็นแค่การเสริมความรู้ในกรณีที่จัดปกติไม่ครอบคลุมหลักสูตร

3.ฝ่ายนโยบายต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ชัดเจนในเรื่องการสอนออนไลน์ การสอนปกติ ไม่ใช่เป็นนโยบายรายวัน พอผู้ปกครองได้รับผลกระทบโวยวายก็ออกมาแก้ปัญหารายวัน

4.การเรียนออนไลน์ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ บนความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครอง ห้ามให้โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปกำชับนิเทศติดตามพร้อมขู่เป็นนัยๆ ว่าจะนิเทศติดตามว่ามีความพร้อมในการเรียนออนไลน์หรือไม่ เพื่อเสนอฝ่ายนโยบายเอาหน้า

เหล่านี้ล้วนเป็นข้อติข้อเตียนและเสนอแนะที่กระทรวงศึกษาธิการควรรับฟังอย่างยิ่งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image