มาตรการเข้ม ‘ร.ร.นานาชาติ-ประจำ’ รับเปิดเทอม 1 มิ.ย.

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกประกาศ ศธ. เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา กำหนดให้โรงเรียนในสังกัดทั้งรัฐและเอกชน เปิดเทอมพร้อมกันในวันที่ 1 กรกฎาคม โดยให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสืบเนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด-19

ในส่วนของโรงเรียนานาชาติ มีกำหนดวันเปิดและปิดภาคเรียนไม่ตรงกับโรงเรียนในระบบ ให้โรงเรียนพิจารณาเปิดเรียนได้ทันทีตามความเหมาะสม แต่ต้องกำหนดรูปแบบและวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของแต่ละพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่

โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ต่างขานรับเปลี่ยนวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม

แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน อยู่ในระดับดี บางวันแทบไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม ทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ ศธ.ขยับวันเปิดเทอม หรือเปิดเทอมในพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ที่ไม่พบคนติดเชื้อมาเป็นเวลานาน

Advertisement

ในส่วนของโรงเรียนนานาชาติ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า สช.เตรียมจัดทำข้อเสนอ ต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้พิจารณาทบทวน การประกาศเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เฉพาะโรงเรียนนานาชาติก่อน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้

โดยให้เหตุผลที่ควรผ่อนผัน คือ มีปัจจัยเอื้อต่อความปลอดภัย โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนต่อห้อง 20-25 คน ทำให้มีจำนวนครูและบุคลากรต่อนักเรียน เฉลี่ย 1:10 (อนุบาล 1:7) ประกอบกับพื้นที่โรงเรียนกว้าง มีห้องเรียน ห้องจัดกิจกรรมที่เพียงพอต่อการวางมาตรการโซเชียล ดิสแทนซิ่ง (social distancing) โรงเรียนเหล่านี้ ผู้ปกครองมีศักยภาพและมีความพร้อมสูงในการป้องกันโรค โรงเรียนมีที่ตั้งในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว นอกจากนี้ นักเรียนต่างชาติของโรงเรียนนานาชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้พำนักอยู่เดิมในไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้ อีกทั้งโรงเรียนนานาชาติมีระบบสอนออนไลน์อยู่แล้ว ทำให้นักเรียนเข้ามาในโรงเรียนช่วงสั้นๆ และทำให้สามารถติดตามนักเรียนได้ง่ายในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพ

เหตุผลข้อต่อมาที่ควรจะผ่อนผัน คือ เพื่อลดผลกระทบทางธุรกิจและสังคม เนื่องจากเดือนมิถุนายน เป็นเดือนสุดท้ายของปีการศึกษาโรงเรียนนานาชาติทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ใช้หลักสูตรเดียวกันทำให้จำเป็นต้องปรับช่วงเวลาให้ตรงกับหลักสูตรของต่างประเทศด้วย และผู้ปกครองไม่ยอมรับการสอนแบบออนไลน์ตลอดภาคเรียน แต่ต้องการแบบผสมผสาน หรือไฮบริด (hybrid) ทำให้ผู้ปกครองชะลอการจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน จนทำให้เกิดการฟ้องร้องขอเงินค่าธรรมเนียมการเรียนคืน และมีการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก

Advertisement

เบื้องต้นจากข้อมูล สช.มีโรงเรียนเอกชนในระบบทั้งหมด 4,114 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนนานาชาติ 216 แห่ง กระจายอยู่ใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ และหลายโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่สีแดง โรงเรียนนานาชาติที่สอนเฉพาะระดับอนุบาล มีทั้งหมด 51 แห่ง แต่ส่วนใหญ่สอนตั้งแต่อนุบาลถึง ม.6 โดยมีโรงเรียนที่เปิดสอน 2 ภาคเรียนทั้งหมด 81 แห่ง และเปิดสอน 3 ภาคเรียน อยู่ 135 แห่ง ซึ่งเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เปิดการเริ่มต้นภาคเรียนที่ 1 ของโรงเรียนนานาชาติ 11 แห่ง และเป็นเดือนที่สิ้นสุดปีการศึกษา อยู่ 201 แห่ง หากไปเปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคม หมายถึงการปิดภาคเรียนของโรงเรียนนานาชาติ 197 แห่ง เพราะฉะนั้นประกาศ ศธ.ที่ให้โรงเรียนเปิดวันที่ 1 กรกฎาคม จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโรงเรียนนานาชาติ

นอกจากนี้ สช.ได้จัดเตรียม 26 มาตรการรองรับการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในโรงเรียนเอกชน ดังนี้

ก่อนเปิดเรียน 1.โรงเรียนทำการสำรวจข้อมูลครู นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ภายใน 14 วัน หรือมีอาการที่แสดงว่ามีความเสี่ยง ให้แจ้งโรงเรียนรับทราบโดยทันที 2.โรงเรียนมีการแบ่งพื้นที่ใช้งานอย่างชัดเจน จัดเตรียมสถานที่ในห้องเรียน พื้นที่ต่างๆ โดยใช้ social distancing ให้มีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ระหว่างบุคคล พร้อมทำป้ายสัญลักษณ์แจ้งเตือนทั่วบริเวณโรงเรียน 3.โรงเรียนมีการทำความสะอาดพื้นที่ภายในโรงเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนทุกครั้งก่อนเปิดเรียนอย่างต่อเนื่อง 4.กำหนดจุดคัดกรองบริเวณประตูทางเข้าโรงเรียน

5.มีจุดบริการทำความสะอาดมือและมีการจัดเตรียมสบู่ล้างมือ แอลกอฮอล์เจล บริเวณทางเข้าประตูโรงเรียน ห้องเรียน บริเวณอาคาร ห้องน้ำ หรือสถานที่จัดกิจกรรมอื่นๆ อย่างเพียงพอและทั่วถึง 6.ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคติดเชื้อโควิด-19 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด แก่ครู บุคลากร และพนักงานของโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง นักเรียน และผู้เกี่ยวข้อง 7.จัดให้มีป้ายประชาสัมพันธ์แนะนำมาตรการป้องกันโควิด-19 ของโรงเรียน การสังเกตอาการ และอื่นๆ

8.จัดทำแผนการเรียนการสอน อาจแบ่งนักเรียนสลับมาเรียน ที่โรงเรียน แต่ละห้องหรือแต่ละชั้นตามความเหมาะสม และจัดให้มีการเหลื่อมเวลาเข้าเรียน เลิกเรียน รวมถึงเวลาพักของนักเรียนแต่ละชั้นปีระหว่างเปิดเรียน 9.ผู้ปกครองต้องตรวจวัดอุณหภูมิของนักเรียนทุกครั้งก่อนออกจากบ้านมาโรงเรียน 10.พนักงานประจำรถและพนักงานขับรถโรงเรียนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนปฏิบัติหน้าที่

11.พนักงานประจำรถโรงเรียน มีเทอร์โมมิเตอร์ประจำตัว และต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของนักเรียนก่อนขึ้นรถรับ-ส่งนักเรียน 12.บุคคลทุกคนที่จะเข้ามาภายในบริเวณโรงเรียนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดคัดกรอง ในกรณีที่พบ ผู้มีอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือสูงกว่า 37.5 องศา หรือมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จะไม่อนุญาตให้เข้ามาภายในบริเวณโรงเรียน และมีการบันทึกข้อมูลเก็บไว้

13.นักเรียน ครู และบุคลากร หรือผู้มาติดต่อกับโรงเรียนทุกคน ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย 14.โรงเรียนต้องจัดให้มีระบบระบายอากาศ เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี 15.เพิ่มความเข้มข้นในการทำความสะอาดภายในโรงเรียน อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำหลังเลิกเรียนทุกวัน

16.โรงเรียนต้องมีการควบคุมคุณภาพการประกอบอาหารและการจัดการน้ำดื่มในโรงเรียนให้ถูกสุขอนามัย 17.ยกเลิกการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรภาคบ่ายทั้งหมด 18.งดการประชุมหรือจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีคนหมู่มาก 19.งดกิจกรรมกีฬาทุกประเภทที่ต้องสัมผัสตัวกับผู้ร่วมแข่งขัน หรือกีฬาประเภทที่ต้องแข่งขันเป็นทีม 20.นักเรียนจะได้รับคำเตือนจากครูให้ล้างมือเมื่อจบคาบเรียนทุกๆ คาบ หรือเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสวัสดุต่างๆ โดยมีเจลล้างมือให้บริการหน้าโรงเรียน ในห้องเรียน ห้องน้ำ และโรงอาหาร

21.นักเรียนและพนักงานทุกคนจะต้องมีขวดน้ำ/กระติกน้ำของตนเอง 22.ในกรณีที่พบนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 หรือเจ็บป่วย ให้มีผู้ประสานงานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อดำเนินการคัดแยกและดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย 23.หลีกเลี่ยงการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นเวลาต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมง 24.การจะให้นักเรียนมาหรือไม่มาโรงเรียนในแต่ละวันให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ปกครอง

หลังเลิกเรียน 25.โรงเรียนต้องแจ้งผู้ปกครอง เพื่อรับนักเรียนกลับบ้านทันทีหลังเลิกเรียน 26.โรงเรียนมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลมาตรการการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 และรายงานผู้อำนวยการสถานศึกษาทราบเป็นประจำทุกวัน

ประเด็นที่ สช.และโรงเรียนนานาชาติ เสนอนั้น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ออกมาระบุว่า การที่โรงเรียนนานาชาติเสนอเปิดเทอมวันที่ 1 มิถุนายน หรือที่นายกรัฐมนตรีปรารภขึ้นในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ โดยให้โรงเรียนประจำที่มีความพร้อมเปิดเทอมก่อนนั้น ทั้งหมดนี้ ศธ.ต้องเสนอให้ที่ประชุม ศบค.พิจารณา หากที่ประชุมเห็นชอบ ก็พร้อมทบทวนให้ ในส่วนของโรงเรียนนานาชาตินั้น โรงเรียนบางแห่งมีความจำเป็นต้องเปิด ปิดเทอมให้สอดคล้องกับต่างประเทศ เพื่อความเชื่อมโยง ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ต้องกลับมาทบทวน ขณะเดียวกันจากที่ดูข้อเสนอทางโรงเรียนนานาชาติ ก็มีมาตรการป้องกันที่ค่อนข้างพร้อม และหากมีปัญหานักเรียนเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ก็พร้อมที่จะกลับไปสอนในระบบออนไลน์

สุดท้ายต้องจับตา ที่ประชุม ศบค.ในครั้งต่อไปว่าจะพิจารณาให้โรงเรียนประจำ และโรงเรียนนานาชาติเปิดเทอมก่อนหรือไม่?

‘ร.ร.นานาชาติ-ประจำ’

รับเปิดเทอม 1 มิ.ย.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image