นักวิชาการหนุนเกณฑ์’ครูผช.’ใหม่ ลดปัญหาพื้นที่เล่นพรรคเล่นพวก

นักวิชาการหนุนเกณฑ์’ครูผช.’ใหม่ ลดปัญหาพื้นที่เล่นพรรคเล่นพวก

นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจะสอบวันที่ 29-30 สิงหาคมนี้ โดยในส่วนของภาค ก และ ภาค ข ให้ส่วนราชการออกข้อสอบ และให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จัดสอบตามเดิม แต่ปรับการประเมินภาค ค ซึ่งเดิมกำหนดให้เรียกสอบภาค ค เมื่อมีตำแหน่งว่าง ทำให้เกิดข้อห่วงใยว่าจะทำให้การบรรจุล่าช้า งบบานปลายและเกิดความไม่โปร่งใส ดังนั้น จึงปรับโดยให้ผู้สอบภาค ก และ ข ที่ได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เรียงลำดับตามเลขที่นั่งสอบ ไม่เรียงตามคะแนน ได้สิทธิสอบภาค ค ทุกคน โดยจะมีกรรมการกลางในการจัดสอบ ประกอบด้วยการสอบสัมภาษณ์ ประเมินแฟ้มสะสมงาน และสอบปฏิบัติการสอน เมื่อสอบครบทั้ง 3 ภาค จะนำคะแนนมารวมกัน ส่วนกลางจะเป็นผู้รวมคะแนนแล้วเรียงลำดับจากสูงไปหาต่ำ ส่งให้ กศจ.เรียกบรรจุตามลำดับ โดยไม่มีการสอบอีก นั้น

อธิการบดีมรภ.นครราชสีมา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยในหลักการ แม้จะขัดกับแนวทางกระจายอำนาจที่ให้สถานศึกษาสามารถเลือกครูได้ตรงตามความต้องการ ซึ่งที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าการกระจายอำนาจที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการนั้น ไม่สามารถทำได้จริง ยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส และไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ค่อนข้างมาก

นายอดิศร กล่าวต่อว่า การดึงการประมวลผลการสอบคัดเลือกทั้ง 3 ภาค มารวมไว้ที่ส่วนกลางก็เหมือนกลับไปจัดสอบแบบเดิม เพียงแต่ให้กศจ. เป็นผู้ประกาศผลสอบ ทั้งนี้เหตุผลที่ส่วนตัวที่เห็นด้วยกับหลักการของแนวทางนี้ ประการแรก โรงเรียนไม่ต้องเสียเวลาเรียกสอบทีละครั้ง เมื่อมีตำแหน่งว่างเท่านั้น อย่างที่สอง ลดปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก เพราะต้องยอมรับว่า การเรียกสอบสัมภาษณ์เมื่อมีตำแหน่งว่าง ยังมีช่องให้เกิดการทุจริตได้อยู่เล็กน้อย สรุปโดยรวมคือ แนวทางนี้หลักการดีกว่าการทยอยเรียกสอบภาค ค เมื่อมีตำแหน่งว่าง

“ส่วนตัวผมเห็นด้วย แม้จะขัดกับหลักการการกระจายอำนาจ ซึ่งเดิมจะให้โรงเรียน มีสิทธิในการสอบภาค ค ทดสอบปฏิบัติการสอนด้วยตัวเอง เพื่อให้คัดเลือกครูได้ตรงตามความต้องการ ดังนั้นเมื่อปรับมาสอบรวมทั้งสามภาคเช่นนี้ ก็อาจส่งผลให้โรงเรียนไม่สามารถคัดเลือกครูได้ตรงตามคุณลักษณะที่ต้องการ ขณะที่แนวทางใหม่ สามารถปิดช่องว่างการทุจริตได้เพียงเล็กน้อย เพราะหากคนจะทุจริต จะแก้หลักเกณฑ์อย่างไร ก็หาช่องทุจริตได้ แนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนคือ หามาตรการลงโทษที่เด็ดขาด รุนแรง รวดเร็ว ไม่ใช่สอบสวนกันเป็น 10 ปี กว่าจะลงโทษได้ กระทั่งทุกวันนี้ กลุ่มที่อยู่ในกระบวนการทุจริตครูผู้ช่วยบางคนยังถูกลงโทษไม่ครบถ้วนก็มี” นายอดิศรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image