ศธ. สร้างโอกาสให้นักเรียน ผ่านอาชีพผู้ปกครอง

ศธ. สร้างโอกาสให้นักเรียน ผ่านอาชีพผู้ปกครอง

จากนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการทำงานในรูปแบบ MoE One Team เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน โดยเน้นคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ และจุดเน้นที่นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีการบูรณาการงานเพื่อเกิดประสิทธิภาพในการสนับสนุนงานในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งการดำเนินการงานทั้งแนวดิ่งและแนวราบในรูปแบบการจัดการองค์กรแบบเมตริกซ์ (Matrix Organization) ภายใต้การขับเคลื่อนตามนโยบายของนายวราวิช กำภู ณ อยุธยาที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการศธ. ในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนอย่างยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาสในการศึกษาและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของนักเรียน

การดำเนินการสร้างอาชีพให้ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย และอาชีพที่ไม่มั่นคง เพื่อให้เกิดรายได้เสริมและยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ตรงกับศักยภาพที่ผู้ปกครองทำได้และถนัด ไม่เป็นภาระกับผู้ปกครอง รวมทั้งยังเป็นการสร้างวิถีชุมชนในการเรียนรู้ให้นักเรียนได้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่มอบให้ มีความเป็นเจ้าของร่วมกันของครอบครัวโดยการตั้งชื่อ โรงเลี้ยงไก่เป็นชื่อของนักเรียน และถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยในการเรียนรู้กับโจทย์ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ

การดำเนินการในครั้งนี้ เป็นงานต่อเนื่องจากการเยี่ยมบ้านนักเรียน จึงเกิดกิจกรรม “สร้างโอกาสให้นักเรียน ผ่านอาชีพผู้ปกครอง” ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานการศึกษาส่วนกลาง และส่วนพื้นที่หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) หน่วยทหารช่วยเหลือประชาชน (ช พัน 9 และ กองพลพัฒนา 4) รวมทั้งผู้มีจุดร่วมเดียวกันในการช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้นักเรียน ให้เกิดความยั่งยืน พึ่งตนเองได้ของผู้มีรายได้น้อยแต่มีภาระมาก

Advertisement

โดยในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ช่วยปลัดศธ. พร้อมทั้งครูประจำชั้นของนักเรียน, ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตลุงเหนือ, ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กาญจนบุรี เขต 4 และรองศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี ได้เดินทางไปบ้านนักเรียน โรงเรียนบ้านตลุงเหนือ เพื่อมอบโรงเลี้ยงไก่ให้แก่ทั้ง 2 ครอบครัว

ครอบครัวแรก เป็นครอบครัวของนักเรียนหญิงชั้นอนุบาล 3 มีครูประจำชั้นชื่อ นายปิยพงศ์ รุจินานนท์ จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 พบว่า ผู้ปกครองมีรายได้จากการหาเลี้ยงชีพน้อยมาก อาศัยในเพิงที่พัก ซึ่งมีผู้อนุเคราะห์แบ่งพื้นที่ให้อยู่อาศัย นักเรียนอยู่กับแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ มีตาและยายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ด้วยการประกอบอาชีพรับจ้าง ได้รับรายได้คนละประมาณ 150 บาทต่อวัน นักเรียนได้รับโอกาสจากการสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจน จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

Advertisement

ครอบครัวที่สอง เป็นครอบครัวของนักเรียนหญิง 2 คน เป็นนักเรียนชั้น ป.2 ซึ่งมีครูประจำชั้นชื่อ นางสาวพรรษา ฉิมพงษ์ และนางขันทอง เรือนรื่น และ นักเรียน ชั้น ป.6 ครูประจำชั้น ชื่อ นางสาวดวงทิพย์ แผนสมบูรณ์ และนางสาวอินทิรา เทียกโฮม จากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2563 พบว่า ผู้ปกครองของนักเรียนมีรายได้น้อยมาก รวมทั้งมีย่าที่ต้องดูแล และไม่มีโทรทัศน์ นักเรียนเรียนหนังสือผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้ปกครอง ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีครูประจำชั้นทำการตรวจเยี่ยมบ้านและนำใบงานมาให้นักเรียนได้ฝึกทำควบคู่ไปกับการเรียนการสอนทางไกล โดยมีพ่อคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก รวมทั้งพี่ช่วยสอนน้องด้วย

สำหรับการส่งเสริมและช่วยเหลือให้ผู้ปกครองมีอาชีพเสริมด้วยการสร้างโรงเลี้ยงไก่ โดยตั้งชื่อว่า “โรงไก่ ใบเตย” และ “โรงไก่ พลอย & ปิ่น” ตามชื่อของนักเรียน พร้อมทั้งจัดหาไก่และอาหาร และสอนวิธีการเลี้ยงเพื่อให้สามารถยืนได้ด้วยตนเองในอนาคตต่อไป โดยในการสร้างโรงเลี้ยงไก่ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกลุ่มผู้มีจิตศรัทธาและทีมผู้ร่วมด้วยช่วยกันผ่าน ผช.ปศธ. นอกจากนี้ ช.พัน 9 ได้ให้การสนับสนุนด้านกำลังพลในการสร้างโรงเลี้ยงไก่และการจัดหาไก่พันธุ์ประดู่หางดำ หรือไก่กระดูกดำ ซึ่งเลี้ยงง่าย สามารถนำไข่มาทานและเพิ่มจำนวนไก่กินตัวได้ อีกทั้ง คุณวงษ์เทพ สงัดดง อู่ช่างเตี้ย กาญจนบุรี ได้บริจาคไก่บ้าน จำนวน 15 ตัว และผอ.รร.บ้านตลุงเหนือ ร่วมบริจาคไก่บ้านวัยรุ่น จำนวน 30 ตัว ซึ่งไก่บ้านเป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย ไม่เป็นภาระในการดูแลและมีค่าอาหารไก่ราคาถูก และ รอง ผบ.พัฒนา 4 และทีมสร้างโรงไก่อีกหนึ่งโรง พร้อมสนับสนุนงบประมาณด้วย

ส่วนอาหารกลางวันสำหรับกำลังพลในการก่อสร้างโรงเลี้ยงไก่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็นการร่วมด้วยช่วยกันในพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพให้เกิดขี้นอย่างแท้จริง รวมทั้งในการเลือกพันธุ์ไก่ แต่ละครอบครัวเป็นผู้เลือกพันธุ์ไก่ตามความถนัดและความสามารถของตนเองเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดและความยั่งยืน
จากการที่ได้ลงพื้นที่ ยังได้รับทราบว่า ผู้ปกครองนักเรียนต้องมีภาระในการเสียค่ารถเป็นรายเดือน จึงได้สนับสนุนค่ารถสำหรับนักเรียนที่ครอบครัวมีรายได้น้อย เพื่อลดภาระของครอบครัว เป็นระยะเวลา 2 เดือน เป็นเงินจำนวน 6,000 บาท โดยมอบให้กับนักเรียนจำนวน 15 คน ซึ่งผ่านการคัดกรองจากผู้ใหญ่บ้านแล้ว

สำหรับการสร้างรายได้และอาชีพโดยผู้ได้รับเป็นคนเลือกเองตามความถนัดและสามารถดำเนินการได้อย่างไม่เป็นภาระ เป็นการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างโอกาสให้กับนักเรียน ผ่านความรับผิดชอบของครอบครัว และการอยู่ได้ด้วยตนเองในสังคม นอกจากนี้ ในการให้ความช่วยเหลือทั้งสองครอบครัวนี้ เป็นการช่วยดูแล ป้องกันภัยไว้ก่อนที่จะเกิดปัญหาในภายหลัง เนื่องจากนักเรียนทั้ง 3 คนเป็นเด็กนักเรียนหญิง และต้องอยู่ตามลำพัง เนื่องจากผู้ปกครองจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นอีกงานสำคัญของนโยบายของการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่ไม่ปลอดภัยกับนักเรียน ในงานศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ กระทรวงศึกษาธิการ (ศคพ.)

จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้อำนวยการและคณะครู ติดตามการเตรียมความพร้อมในการเปิดเรียนของโรงเรียน และการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 2019) พบว่า โรงเรียนดำเนินการได้เป็นอย่างดี มีทีมคณะทำงานของสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ดูแลให้คำปรึกษา ติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และมีการทำงานร่วมกันที่พื้นที่อย่างเข้มแข็งทั้งในกระทรวงและนอกกระทรวงจนเกิดงานการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมที่พื้นที่ รวมทั้งยังเป็นการทำงานกิจกรรมเดียวแต่สามารถบูรณาการงานได้หลายนโยบายได้อย่างชัดเจน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของงานขับเคลื่อนของกระทรวงศึกษาธิการที่ส่งตรงถึงบ้านนักเรียน และขยายผลไปยังชุมชนที่เข้มแข็งในการสร้างอาชีพผู้ปกครองเพื่อคุณภาพของผู้เรียนที่ยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image